กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และชมรมรมเพื่อนโรคไต ประกาศเดินหน้า ขอเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวระบบหลักประกันสุขภาพ ชี้ คสช.แช่แข็ง เท่ากับขาดงบประมาณถึง 2.3 หมื่นล้านบาท เผยปี 58 สปสช.ของบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มไปอีก 165 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น จากเดิม 2,895 บ. ขอเป็น 3,060 บ. แต่ก็ยังถูกตัดเหลือเท่าเดิมกับอัตราปี 57
11 ส.ค.57 น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนหลักรักประกันสุขภาพ ระบุว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 เสนอขอเพิ่มจาก 2,895 บาทต่อคนต่อปี เป็น 3,060 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 165 บาทต่อคนต่อปี เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและเป็นค่าแรงของผู้ให้บริการ และเป็นการคิดงบบนฐานของความเป็นจริงของการใช้บริการของประชาชน มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ รัฐจำเป็นต้องลงทุนเรื่องสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี จะได้สร้างรายได้ เสียภาษีให้รัฐได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันและงค์กรพันธมิตรจะเดินหน้าเรียกร้องให้ คสช.และ สนช.ต้องไม่แช่แข็งงบประมาณ
“ขอให้ทบทวนในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มงบให้ตามที่ขอ โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะส่งตัวแทนไปพบ คสช.และสนช.เพื่อยืนยันประเด็นนี้ ประเทศเรามีเงินเพียงพอที่จะจัดสรรมาใช้ในเรื่องสุขภาพของประชาชน ประชาชน 49 ล้านคน กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงมาก ที่จะได้รับบริการต่ำกว่ามาตราฐาน ด้วยเพราะงบประมาณที่จำกัดทำให้โรงพยาบาลอาจต้องคิดว่า รักษาเท่านี้พอแล้ว เงินมีน้อย”
ทางด้านนายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากงบประมาณที่ถูกแช่แข็ง โดยจัดสรรงบให้ผู้ป่วยรายใหม่ไว้เพียง 419 คน จากประมาณการผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 10,000 ราย นั่นหมายความว่าจะมีผู้ป่วยโรคไตจะเสียชีวิตมากขึ้น
“ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยที่มีสมาชิกมากกว่า 40,000 คนจะร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไปอธิบายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าใจว่า ต้องเพิ่มงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวให้ได้อย่างน้อยเท่ากับที่ สปสช.ขอไปคือ 3,060 บาท ไม่เช่นนั้น ผู้ป่วยรายเก่าจะถูกลดการดูแลรักษาเพื่อเจียดให้กับผู้ป่วยใหม่ ขณะที่ผู้ป่วยใหม่ก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ สุดท้ายจากที่ผู้ป่วยโรคไตยังพอมีชีวิตในการเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของปรเทศได้ จะทยอยเสียชีวิตลง ซึ่งนี่ไม่ใช่การคืนความสุข แต่ทำให้เป็นทุกข์ จะเป็นการฆ่าเรามากกว่า”
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลกให้เป็นนวัตกรรมของโลกในการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีและมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและยังแก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้น เราต้องปกป้องสิ่งที่ดีเหล่านี้ที่ช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ต้องดำรงสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม โดยไม่ให้มีการร่วมจ่าย ณ จุดรักษา ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และต้องเสนอให้มีระบบภาษีใหม่ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชน อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และ ภาษีจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเริ่มดำเนินการแล้ว
“แต่จากการที่สำนักงบประมาณเสนอ คสช.ให้คงค่าเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นปีที่ 3 นั้นเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ เพราะในค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นมีเงินเดือนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ คสช.จะขึ้น 8% และยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้ออีกไม่ต่ำกว่า 3% แต่เมื่อค่าเหมาจ่ายรายหัวถูกแช่แข็งเช่นนี้ เท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพจะขาดงบประมาณรายหัว (Net shortfall) 483 บาทต่อหัว คือประมาณ 23,184 ล้านบาท ซึ่งจะยอมให้ขาดงบประมาณเช่นนี้ไม่ได้
ทางด้าน ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง จากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการเสนองบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นการเสนอเพื่อต่อรองเช่นหน่วยราชการทั่วไป แต่เป็นการเสนองบประมาณที่เป็นตัวเลขสุดซอย ซึ่งทางสำนักงบประมาณยอมรับว่า หากมีเหตุผลอธิบายมากพอ อาจมีการปรับเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม นโยบายของกระทรวงการคลังขณะนี้ จะไม่ยอมให้มีการออกภาษีใดที่จะนำไปเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัว (earmark) อีกต่อไป
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังหวังว่า การตั้งคณะทำงานลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน คือ ระบบสวัดิการข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ ระบบประกันสังคม จะสามารถนำไปสู่การลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ หากระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคมมาร่วมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะทำให้ทุกระบบมีความยั่งยืนได้ เพราะที่ผ่านมา การต่อรองราคาและจัดซื้อรวมได้พิสูจน์แล้ว อาทิ ราคาสายสวนหัวใจที่ใช้ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 เส้น ลดราคาจาก 85,000 บาท เหลือ 17,000 บาท แต่ระบบสวัสดิการราชการก็ยังยอมให้เบิกถึง 30,000 บาทต่อเส้น หรือการทำบอลลูนที่ราคาลดลงจาก 10,000 บาท เหลือ 4,000 บาท
- 4 views