สธ. เตรียมเสนออนุมัติโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เป็นโรคที่ 6 ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ ผลการตรวจเฝ้าระวังประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ตรวจแล้ว 381 คน ไม่พบรายใดมีอาการผิดปกติ ขอให้ประชาชน ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รู้สถานการณ์ และมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
8 ส.ค. 57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ติดตามประเมินสถานการณ์โรคอย่างต่อเนื่องทุกวัน ในส่วนมาตรการของประเทศไทยที่ใช้ขณะนี้ นอกจาก 4 มาตรการหลักคือ การเฝ้าระวังโรคผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีปัญหาแพร่ระบาดที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งทุกวัน ความพร้อมด้านการดูแลรักษาของทีมแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำรวดเร็ว การให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนที่ถูกต้องแล้ว จะเพิ่มมาตรการทางด้านกฎหมาย เพื่อผลในการจัดการด้านสาธารณสุข คือ การเพิ่มประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2523 เป็นโรคที่ 6 จากเดิมที่มี 5 โรคได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง กาฬโรค และโรคซาร์ส หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเข้มข้น ทั้งในคนและสัตว์ โดยตรวจผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบท่าอากาศยาน ท่าเรือหรือท่าขนส่งทางบก เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอขออนุมัติที่ประชุมของฝ่ายสังคมและจิตวิทยาในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับทันที
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากการประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอิโบลาในวันนี้ สถานการณ์การแพร่ของโรคยังอยู่ที่ 3 ประเทศหลัก คือกีนี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วยติดเชื้อ 1,440 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 887 ราย ผลการเฝ้าระวังผู้โดยสารที่มาจากประเทศดังกล่าวที่ท่าอากาศยานนานาชาติในวันที่ 7 สิงหาคม 2557 มีจำนวน 5 คน อยู่ในข่ายการติดตามเฝ้าระวังภายใน 21 วัน 1 คน ไม่มีรายใดป่วยหรือมีอาการไข้ ยอดสะสมการเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557- 7 สิงหาคม 2557 รวม 381 คน ทุกรายปกติ
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ภายหลังจากประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มาตรการสำคัญที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ เช่น 1.มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ช่องทางและด่านตรวจคนเข้าเมือง สามารถตรวจตราพาหนะและตรวจผู้เดินทาง สิ่งของหรือสัตว์ที่มากับพาหนะ ตรวจตราและควบคุมให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ แก้ไขการสุขาภิบาลของพาหนะให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งกำจัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในพาหนะ ห้ามเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ เป็นต้น 2.กรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้น ให้บุคคลต่างๆ เช่น เจ้าบ้าน เจ้าของพาหนะ แพทย์หรือสถานพยาบาลผู้ให้การรักษาผู้ป่วย แจ้งต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสอบสวนโรค ควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค หรือคุมไว้สังเกตอาการจนกว่าจะได้รับการตรวจว่าพ้นระยะติดต่อแล้ว เป็นต้น
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสอีโบลา มีอัตราตายค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 50-90 เชื้อมีระยะฟักตัว 2-21 วัน อาการของผู้ป่วย คือ มีไข้สูงทันที อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ในรายที่อาการรุนแรง เสียชีวิตมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารของกระทรวงสาธารณสุข โดยช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงเดินทางเข้าพื้นที่ระบาดชั่วคราวไปก่อน หากมีความจำเป็นขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดและสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 23 views