ปลัดสธ.เผยผลการประชุมหารือระหว่างคสช. สธ. สปสช. สสส. และสช. ให้ความสำคัญเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุบรวมเป็นกองทุนเดียว เตรียมตั้งคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่าง ส่วนวาระการปฏิรูประบบสุขภาพ ให้นำมติ 5 ข้อจากสมัชชาสุขภาพมาแปลงสู่การปฏิบัติ และจะหารือเรื่องนี้ในเวทีปฏิรูปรพบบสุขภาพอีก 2 สัปดาห์ พร้อมดึงภาคปชช.เข้าร่วม
31 ก.ค.57 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) พล.ร.ต.นวพล ดำรงพงศ์ เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ ในฐานะผู้แทน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับฟังการประชุมร่วมเสนอความเห็นแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส.)
โดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณา 2 วาระ คือ 1. การหาแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยทางฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.มองว่าปัจจุบันแต่ละกองทุนยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ จึงควรมีการทำงานเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะยุบรวมเป็นกองทุนเดียว แต่ให้แต่ละกองทุนพัฒนาสิทธิประโยชน์ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนขึ้น เบื้องต้นให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือในระดับปฏิบัติการ กรรมการจะมีใคร มีผู้ทรงคุณวุฒิจากที่ใดบ้าง รวมทั้งแนวทางการดำเนินการ หรือกองทุนควรจะเพิ่มลักษณะใด ตรงนี้จะต้องมาหารือกัน แต่ทุกอย่างจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างยกร่าง ต้องรอเป็นคำสั่ง คสช.ออกมา ดังนั้น จึงไม่ขอพูดในรายละเอียด
“ส่วนวาระที่ 2 การปฏิรูประบบสุขภาพไทย โดยในที่ประชุมเสนอให้นำผลการประชุมสมัชชาสุขภาพ 5 เรื่องมาประกอบการปฏิรูป โดยจะแปลงมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพจะเป็นเช่นไรจะยกไปหารือในเวทีการปฏิรูปของ คสช.ในอีก 2 สัปดาห์” นพ.ณรงค์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในวันที่ 4 สิงหาคมหรือไม่ เนื่องจากภาคประชาชนเรียกร้องว่า ไม่มีการประชุมร่วม 2 เดือน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า คสช.มีมติว่าอะไรเป็นนโยบายไม่ต้องเข้าประชุม ขอให้เป็นเรื่องปฏิบัติการ ส่วนวันที่ 4 สิงหาคม ตนติดรับเสด็จที่จ.สระบุรี
ด้านนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพ ควรมีแนวทาง 5 ข้อจากมติสมัชชาสุขภาพเข้าร่วม ซึ่งมติเหล่านี้ได้ผ่านความเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องมากมาย ประกอบด้วย 1.การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ 2.การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ 3.การปฏิรูประบบการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ 4.การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันสุขภาพ และ 5.การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
“ในเรื่องการเงินการคลังนั้นมีการเสนอว่าต้องมีแผนในการทำให้ระบบการเงินการคลังยั่งยืน แต่ไม่ได้พูดว่าจะต้องร่วมจ่ายหรือไม่อย่างไร เรื่องนี้คงต้องไปคุยในรายละเอียด แต่จะมีการหารือว่า จะแก้ปัญหาในเรื่องการใช้บริการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทองอย่างไร ไม่ให้เกินขอบเขต เนื่องจากปัจจุบันมี พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ. 2535 แต่เมื่อเกิดเหตุกลับไม่ได้ใช้ มาใช้บัตรทองกันหมด ตรงนี้เป็นความซ้ำซ้อน ควรมีการหารือและแก้ปัญหาเช่นกัน” นพ.อำพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชน จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพฯ จำนวน 5 คน เดินทางมาโดยไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยมารอฟังมติจากการประชุม และเดินทางกลับ โดยไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ
- 9 views