สธ.ซ้อมแผนรับมือ "โรคเมอร์ส-โควี" ระบุทั่วโลกป่วยแล้ว 853 ราย ตาย 330 ราย เร่งดูแลผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ก.ย. พร้อมวางระบบเฝ้าระวังป้องกันโรค
31 ก.ค.57 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือเมอร์ส-โควี (MERS-CoV) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานควบคุมป้องกันโรค โดยสมมติ 3 เหตุการณ์ คือพบผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกในไทย พบผู้ป่วยสงสัยเพิ่มขึ้นในวงกว้าง และพบพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ว่า โรคเมอร์ส-โควี มีความรุนแรงสูง ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษา พบในคนครั้งแรกเมื่อ เม.ย. 2555 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง องค์การอนามัยโลกรายงานผู้ป่วยสะสมจนถึงวันที่ 24 ก.ค. 2557 จำนวน 853 ราย เสียชีวิต 330 ราย ใน 21 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน กาตาร์ คูเวต อิหร่าน โอมาน อียิปต์ เยเมน เลบานอน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ตูนีเซีย อัลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า สำหรับไทยไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ แต่มีโอกาสเสี่ยงจากการเดินทางไปท่องเที่ยว ประกอบธุรกิจ หรือประกอบศาสนกิจในพื้นที่ที่มีการระบาด ได้ให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วย ทั้งในชุมชนและในโรงพยาบาล เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล ห้องแล็บ แจ้งเตือนผู้เดินทาง หากพบผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง ให้แจ้งที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรค ควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด
"สำหรับแผนการดูแลชาวไทยมุสลิมจำนวนกว่า 10,000 คน ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียใน ก.ย.นี้ ได้เตรียมดูแล 3 ระยะคือ ก่อนเดินทาง ระหว่างประกอบพิธี และหลังเดินทางกลับ โดยได้ให้บริการตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้กาฬหลังแอ่น ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ แจกเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย รวมทั้งส่งหน่วยแพทย์พยาบาลไทยไปให้การดูแลรักษาที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และวางระบบการเฝ้าระวังโรค ติดตามหลังเดินทางกลับเป็นเวลา 15 วัน" รองปลัด สธ. กล่าว
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า กรมฯได้จัดการฝึกซ้อมกรณีโรคเมอร์ส-โควี อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ได้ฝึกซ้อมแผน 3 ระยะ โดยระยะ 1 และ 2 เน้นการเฝ้าระวัง สอบสวน และตรวจจับการระบาดในพื้นที่และสนามบิน การดูแลผู้ป่วย การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ส่วนระยะที่ 3 เน้นด้านการตัดสินใจ การสั่งการ การบริหารจัดการทรัพยากร และการสื่อสารในกรณีตอบโต้ภาวะการระบาด รวมถึงการควบคุมโรคในกรณีที่มีการระบาดในชุมชนเป็นวงกว้าง
นพ.โสภณ กล่าวว่า หากประชาชนจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ขอแนะนำให้รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสอูฐ และการดื่มน้ำนมดิบจากอูฐที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือกินอาหารปรุงสุกใหม่ ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด หากจำเป็นควรใส่หน้ากากป้องกันโรค หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หลังเดินทางกลับ ภายใน 14 วันให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย
- 7 views