คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา นัด 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สธ. สปสช. สสส. หารือการบริหารงบประมาณแบบบูรณาการประจำปี 2558 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ที่กองบัญชาการ กองทัพเรือ
29 ก.ค. 57 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ได้รับการประสานจากคณะทำงานของหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้นัดประชุม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสธ. สปสช. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อหารือการบริหารงบประมาณแบบบูรณาการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2558 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ที่กองบัญชาการ กองทัพเรือ ในการนี้ สป.สธ. ได้เชิญคณะทำงานของ สปสช. ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับคณะทำงานของสป.สธ. เพื่อจัดทำข้อตกลงเตรียมข้อมูลและแผนดำเนินงานร่วมกัน ในฐานะผู้ซื้อบริการและผู้จัดบริการ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ที่กระทรวงสาธารณสุข
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ปลัดสธ.ได้วางกรอบทิศทางการดำเนินงานของสธ.ในปีงบประมาณ 2558 ไว้ใน 3 ประเด็นหลักที่จะเดินหน้าพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่จะถึงนี้ คือ
1.การปฏิรูปโครงสร้างการทำงานแบบเขตบริการ
2.การปฏิรูประบบการเงินการคลัง
3.การปฏิรูประบบข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ เพื่อจัดบริการประชาชนทั่วประเทศให้ดียิ่งขึ้น มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
โดยในการปฏิรูปโครงสร้างการทำงานแบบเขตบริการสุขภาพ ได้เดินหน้ามากว่า 1 ปีแล้ว ได้รูปแบบที่เกือบสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ การทำงานในรูปแบบเขตบริการ เริ่มต้นด้วยการมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงสธ. พัฒนาไปเป็นการกระจายอำนาจให้เขตฯ บริหารจัดการ ทั้งงบประมาณ การบริหารบุคลากร และทรัพยากรทางการแพทย์ เพื่อจัดบริการต่างๆ แก่ประชาชน โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ 5 ส่วน คือ
1.ผู้รับบริการ มีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ระดับอบจ. เทศบาล และอบต. และภาคประชาชน
2.ผู้จัดบริการ
3.ผู้ซื้อบริการ
4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ
5.ผู้กำกับและประเมินผล เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ปัญหาและอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าส่วนกลาง ในส่วนของกระทรวงสธ.จะปรับบทบาทเป็นผู้กำกับ กำหนดนโยบาย ออกกฎกติกากลาง เพื่อให้เขตไปปรับใช้ตามความเหมาะสม ต่อจากนี้ไปอำนาจการบริหารจะอยู่ที่เขตสุขภาพ
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการปฏิรูประบบการเงินการคลัง ในปีงบประมาณ 2558 นี้ จะมีงบประมาณจัดสรรลงในพื้นที่ 2 ส่วนใหญ่คือ งบบูรณาการของกระทรวงซึ่งมาจากกรมต่างๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนตามกลุ่มวัย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กปฐมวัยและหญิงตั้งครรภ์ กลุ่ม เด็กวัยเรียน กลุ่มเด็กวัยรุ่น กลุ่มวัยแรงงาน และกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ ประมาณ 3,300 ล้านบาท และงบส่วนที่ 2 เป็นงบรายหัวโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช. ประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท จะปรับหลักการจัดสรรให้สอดคล้องกับพื้นที่มากขึ้น ส่งไปให้ผู้จัดบริการโดยตรง ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ1.งบส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ส่งไปที่เครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อใช้ดูแลประชาชนรายกลุ่ม 2.งบบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ส่งไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อปรับเกลี่ยให้สถานบริการ 3.งบบริการผู้ป่วยในทั่วไป จัดไว้ที่เขตบริการสุขภาพ และ4.งบกองทุนต่างๆ รวมทั้งมาตรา 41 โดยจะมีการบริหารงบร่วมกันกับสปสช. และมีระบบรายงานตามตัวชี้วัดชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถจัดบริการที่ดีที่สุดแก่ประชาชน และงบประมาณอยู่ที่ผู้ทำงานโดยแท้จริง
- 2 views