โพสต์ทูเดย์ -ท่ามกลางกระแสปฏิรูป ดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะตอบสนองมากที่สุด หากพิจารณาแนวทางที่ สธ.นำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว จะพบว่ามีลักษณะ"รวมศูนย์อำนาจ"

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวทางการปฏิรูปของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นเลขาธิการ ที่ให้น้ำหนักกับกลไกการ"รับฟังความคิดเห็น" และยึดหลักการ "กระจายอำนาจ" ลงสู่ประชาชนให้มากที่สุด

"หากอำนาจทุกอย่างกลับไปอยู่กับ สธ. คุณต้องไม่ลืมนะว่ามันถูกบริหารจัดการโดยข้าราชการหมดวันหนึ่งหากหัวอ่อนแอ การเมืองก็สั่งซ้ายหันขวาหันได้ มีการทุจริตได้"

นพ.อำพล บอกอีกว่า ขณะนี้ความคิดเรื่องรวมศูนย์อำนาจยังคงเป็นใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่คสช.มีแนวคิดการปฏิรูป เพราะฉะนั้นอาจจะไม่เห็นผลในทีเดียว แต่สุดท้ายการปรับตัวไปเรื่อยๆ

"ในที่สุดว่าไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการให้อำนาจประชาชนเป็นคนกำหนดนโยบายสุขภาพด้วยตัวเอง"

เรื่องของความขัดแย้งระหว่าง สธ.กับองค์กรตระกูล ส. ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานคุณหมอ อำพลมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

"ในขณะที่ สธ.พูดแต่เรื่องเขตบริการสุขภาพองค์กรตระกูล ส.ได้ทำหน้าที่ใหม่ คือ การทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด พร้อมกันนี้ยังได้จัดตั้งกองทุนอภิบาลระบบโดยเฉพาะ"

ตัวอย่างการดำเนินงานขององค์กรตระกูล ส.ในการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ที่ทำเรื่องลดอุบัติเหตุในชุมชนสช.เอาทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและมีกลไกจัดการแบบเครือข่าย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นผู้ซื้อบริการทุกหน่วยบริการ และทำเรื่องกองทุนสุขภาพประจำตำบล หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ก็มีกองทุนอุดหนุนท้องถิ่น ในการให้บริการฉุกเฉิน รวมถึงมีค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน

"แน่นอนว่าการดำเนินการเช่นนี้ต้องกระทบ สธ.ซึ่งเคยดูแลงบประมาณเอง อำนาจก็หายไป"

นพ.อำพล พูดชัดว่า จากที่ได้รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอต่างๆ พบว่าบทบาทของ สธ.หลังจากนี้ คือต้องคิดและทำให้น้อยลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของการบริการ ที่สำคัญต้องปรับทัศนคติใหม่ให้คนอื่นมาร่วมกันทำเยอะๆ

"แนวทางที่เหมาะสม คือ สธ.ต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น แล้วปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ประสานหรือเป็นเพียงพี่เลี้ยงเท่านั้น"

สำหรับการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีความขัดแย้งกันระหว่าง สธ.กับ สปสช.นพ.อำพล บอกว่า ไม่คิดว่าระบบประกันสุขภาพจะใช้เงินเยอะเกินไปจนทำให้โรงพยาบาลหรือระบบล้มละลาย

"พอเปลี่ยนจากงบประมาณประจำก้อนใหญ่ มาเป็นเหมาจ่ายรายหัว แน่นอนว่าตัวเลขมันเยอะ ก็ต้องถามว่าเยอะแล้วยังไง สธ.จะกลับมาดูแลเองหรอ"

คุณหมออำพล อธิบายว่า ระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้เพื่อสงเคราะห์คนมีรายได้น้อย ระบบนี้คนจนคนรวยมีสิทธิเท่ากัน คุณรวยคุณก็มีสิทธิใช้บริการ ก็ได้เงินต่อหัวเท่ากัน ส่วนถ้าโรงพยาบาลไหนขาดทุนก็ต้องไปดูว่ามันขาดทุนเพราะอะไร ตรงนี้ในฐานะหน่วยบริการก็ต้องมีวิธีบริหาร

"เหมือนรถเมล์ฟรี ไม่ได้บอกว่าคนรวยขึ้นไม่ได้ แต่ถ้ามีฐานะเขาก็ไม่ใช้บริการ เพราะฉะนั้นเงินต่อหัวเขาก็จะถูกเอาไปให้คนอื่นด้วยซ้ำ"

"ระบบของ สปสช.หรือองค์กรตระกูลส.อื่นๆมันมีคนที่เกี่ยวข้อง มีสำนักงบประมาณมีตัวแทนวิชาชีพ มีภาคประชาชน เข้ามาเป็นคนร่วมกำหนด มีการคานอำนาจเกิดขึ้น ถ้าเรามองระบบแบบนี้ ผมเชื่อว่าประชาชนจะพอใจการถ่วงดุล มากกว่าจะให้ข้าราชการบริหารเพียงกลุ่มเดียว"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2557