สถานการณ์ใช้ยาสเตียรอยด์ในไทยน่าห่วง ปี 56 ปริมาณใช้ 737 ล้านเม็ด แหล่งกระจายยามีทั้ง ยาชุดจากร้านยา ร้านชำ และรถเร่ ขณะที่การใช้ยาเสตียรอยด์ในกลุ่มพระสงฆ์น่าห่วง เหตุญาติโยมนำมาถวาย และเกิดการบอกต่อ ส่วนการใส่สเตียรอยด์ในยา แนวโน้มเริ่มเปลี่ยนจากยาเม็ดจัดเป็นชุด มาเป็นผสมในเครื่องดื่มสมุนไพร
21 ก.ค. 57 ในงานประชุม “มหกรรมการจัดการปัญหาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในระดับชาติ” ที่โรงแรมแมนดารินได้มีการเปิดเผยสถานการณ์การใช้สเตียรอยด์ในประเทศไทย โดย ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังในระบบยา(กพย.) เผยว่า ในปี 2550 มีการใช้สเตียรอยด์มากที่สุดถึง 853 ล้านเม็ด หรือคิดเป็นการใช้ต่อคนจำนวน 13.2 เม็ดต่อคนต่อปี ขณะที่ปี 2556 มีปริมาณการใช้ 737 ล้านเม็ด ซึ่งยังไม่นับรวมการใช้ในยาชนิดทา หรือคิดเป็นการใช้ต่อคนจำนวน 11.34 เม็ดต่อคนต่อปี โดยจะพบการเติมสเตียรอยด์ได้ทั้งในยาชุด ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำผลไม้ ยาแผนโบราณ ฯลฯ โดยใน 20 จังหวัดเครือข่ายที่ทำการสำรวจพบว่า แหล่งการกระจายสเตียรอยด์มักอยู่ในรถเร่ และวิทยุชุมชน เป็นจุดสำคัญที่ทั้งโฆษณาและขาย
ภก.เด่นชัย ดอกพอง โรงพยาบาลขุขันธ์ จ.ศรีษะเกษ ให้ข้อมูลอาการข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์ ว่า โดยทั่วไปสังเกตได้จากลักษณะภายนอก เช่น หน้ากลม รูปร่างกลม ตัวบวม แต่ยังมีอาการข้างเคียงจากสเตียรอยด์ที่ไม่ทราบ คือ ภาวะช็อค อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดตามข้อ เพราะต่อมหมวกไตถูกกระตุ้นจากยาจนไม่สามารถทำงานเองได้ เมื่อหยุดยาจึงเกิดอาการดังกล่าวขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่กินจนติด การเลิกกินฉับพลันทำให้เกิดอาการช็อคได้สูง ซึ่งการหยุดยาจำเป็นต้องมีกระบวนการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง แต่พบว่าส่วนใหญ่โรงพยาบาล สั่งให้ผู้ป่วยหยุดการใช้สเตียรอยด์ แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลถึงอาการข้างเคียงที่จะตามมา โดยแหล่งกระจายยาที่พบ คือ ยาชุดจากร้านยา ร้านชำ พบว่า สถานการณ์ลดลง ยาลูกกลอน สถานการณ์คงเดิม ยาจากรถเร่ ยังพบมากและเปลี่ยนจากการใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นกลุ่มยาแก้ปวดชนิด NSAID
ที่สำคัญยังพบปัญหายาจากพระสงฆ์มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแถบชายแดน เนื่องจากมีโยมเอายามาให้พระ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าอาวาส ที่ต้องนั่งนานๆ ก็จะปวดเมื่อย ปวดเรื้อรัง เมื่อทานแล้วรู้สึกดีขึ้นก็ติดการใช้ยา ขณะเดียวกันก็มีการบอกต่อๆ จากพระอีก ตรงนี้ทางเครือข่ายได้มีการลงไปชี้แจง สร้างความเข้าใจแล้ว แต่ในภาพรวมจะต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมกัน โดยมีความหวังให้มีการเฝ้าระวังผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) แต่ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แม้จะมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ต้องขอให้มีการเพิ่มมาตรการเข้มงวดขึ้น
ภญ.กนกพร ธัญมณีศิลป์ ชมรมเภสัชชนบท จ.ศรีษะเกษ กล่าวว่า จากการสำรวจและเก็บอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับสเตียรอยด์หรือผลิตภัณฑ์ปลอมปนสเตียรอยด์ ในโรงพยาบาลชุมชน 10 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 - 31 พฤษภาคม 2557 พบว่า มีผู้ที่ป่วยจากการใช้สเตียรอยด์ 60 ราย เสียชีวิต 2 ราย จากอาการไตวายเฉียบพลัน โดยแบ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 45 จากอาการต่อมหมวกไตผิดปกติร้อยละ 18 โรคคุชชิ่งซินโดรม ร้อยละ 6 เป็นต้น ทั้งนี้ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมสเตียรอยด์ แบ่งเป็นพบในยาสมุนไพรไม่มีทะเบียนตำรับ ร้อยละ 30 ยาเม็ด ร้อยละ 28 ยาชุด ร้อยละ 21 ยาน้ำแผนโบราณ ร้อยละ 16 เครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร ร้อยละ 3 ซึ่งพบว่าแนวโน้มการใส่สเตียรอยด์ เริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากยาเม็ดจัดเป็นชุด มาเป็นการเติมลงในเครื่องดื่มสมุนไพร ที่ขึ้นทะเบียนตำรับเป็นอาหาร
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า อย.ได้พัฒนากลไกการดูแลสเตียรอยด์ตั้งแต่การนำเข้า การทะเบียน การรายงานข้อมูลการใช้ยา ซึ่งสามารถจะทราบข้อมูลในแบบทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎกระทรวงเพื่อบังคับเรื่องช่องทางการจำหน่าย สามารถป้องกันได้เพิ่มเติม หากการแก้ปัญหายังไม่ได้ผล อย.ก็จะพิจารณาการห้ามขายในช่องทางทั่วไป ให้จำหน่ายได้ในโรงพยาบาลเท่านั้นต่อไป นอกจากนี้ ยังมีหน่วยติดตามดูแล ผู้ลักลอบนำวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ รวมทั้งการนำเคมีภัณฑ์ ลักลอบขายให้โรงงานยาบางแห่ง เพื่อนำไปลักลอบขาย และนำไปเติมในอาหารเสริม โดยได้ประสานกับ บก.ปคบ.หากพบว่า เป็นสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่ลักลอบผลิตยาตัวนี้โดยไม่รายงาน ก็จะมีโทษการระงับใบอนุญาตต่อไป
- 157 views