มติชน -สปสช.เตรียมจัดประชุมใหญ่ ก.ค.นี้ เชิญ คสช.เข้าร่วมก่อนเคาะร่วมจ่าย ด้านภาค ปชช.จี้'หมอณรงค์'แสดงความรับผิดชอบ เหตุไม่ทักท้วงอธิบดีแพทย์แผนไทย เล็งเสนอยุบรวมสามกองทุนแก้ปัญหา
นสพ.มติชน วันที่ 17 ก.ค. 57 รายงานว่า กรณี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งโต๊ะแถลงร่วมประชาคมสาธารณสุขปฏิเสธแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ระบุชัดว่ามีเอกสารรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการยืนยันเรื่องดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการทางการเมืองหรือไม่ ขณะที่ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกออกมารับว่าเป็นผู้เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้รับรู้จากการแถลงข่าวดังกล่าวแล้ว และมองว่าประเด็นที่ปลัด สธ.ตั้งข้อสังเกตว่าเป็น กระบวนการทางการเมืองหรือไม่นั้น ต้องถามว่ากระบวนการทางการเมืองนั้นคือใคร หากหมายถึงพวกตนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ขอบอกว่าไม่ถนัดเรื่องการเมือง แต่สิ่งที่นำเสนอเพราะเห็นจากรายงานการประชุมของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่นำเสนอต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. จึงมีความเป็นห่วงว่าหากให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลถึงร้อยละ 30-50 จะเกิดปัญหา เนื่องจากมากเกินไป และแม้จะบอกว่ายกเว้นคนยากจนก็ตาม เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นว่าคนจนเป็นคนอนาถาที่ต้องมารับบริการสาธารณสุข กลายเป็นระบบสงเคราะห์ ไม่ใช่สิทธิสวัสดิการ
"ส่วนประเด็นที่ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ออกมารับว่าเป็นผู้เสนอเรื่องการร่วมจ่ายต่อ คสช. แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น จริงๆ แล้วพวกเราทราบว่า นพ.ธวัชชัยเป็นผู้เสนอ แต่ในการประชุม นพ.ณรงค์ในฐานะปลัดกระทรวงฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด และยังรักษาการประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ดูแลเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทองกลับไม่ทักท้วงประเด็นนี้ ปล่อยให้มีการนำเสนอและให้มีการบันทึกเป็นเอกสารได้อย่างไร แม้จะบอกว่าไม่ได้รับรองเอกสารนั้นก็ตาม เพราะหากสุดท้ายรายงานนี้ไปบรรจุในแผนปฏิรูประบบสุขภาพจะทำอย่างไร จึงสมควรหรือไม่ที่ปลัด สธ. ควรรับผิดชอบเรื่องนี้" นายนิมิตร์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปลัด สธ.แถลงชัดเจนว่าไม่มีการนำเสนอประเด็นร่วมจ่าย ทางกลุ่มฯจะยุติเรื่องนี้หรือไม่ นายนิมิตร์กล่าวว่า ก็ต้องติดตาม แต่ที่สำคัญคือ ปลัด สธ.จะต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนกว่านี้ว่าจะไม่มีการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการให้ประชาชนร่วมจ่าย โดยเฉพาะร่วมจ่าย ณ จุดบริการผู้ป่วย หรือที่โรงพยาบาล ซึ่งจะเกิดการแบ่งแยกระหว่างคนมีเงินจ่ายกับคนจนที่ไม่มีเงินจ่าย โดยปลัด สธ.ต้องเรียกประชุมบอร์ด สปสช.เสียที เนื่องจากในบอร์ดจะมีภาคประชาชน มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ควรมีการยืนยันในบอร์ดด้วย ไม่ใช่แค่ในการแถลงข่าวเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกลุ่มฯไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่ายทุกกรณีหรือไม่ นายนิมิตร์กล่าวว่า ต้องเข้าใจคำว่าร่วมจ่ายให้ชัดเจน โดยหากเป็นการร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วย โดยอาจมีการเก็บเป็นภาษีเฉพาะก็ถือว่าไม่ผิด ปัจจุบันพวกเราก็จ่ายภาษีมูลค่า เพิ่มอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้รัฐก็เอาไปดำเนินการโครงการต่างๆ ซึ่งรวมอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯด้วย ดังนั้น หากรัฐไม่มีเงินเพียงพอก็อาจจะไปเพิ่มภาษี หรือจะไปดำเนินการด้านภาษีในหมวดอื่นๆ ก็มีหลายวิธี หรือจะใช้วิธีบูรณาการสามกองทุน คือ ยุบสามกองทุนสุขภาพ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฯ กองทุนประกันสังคม กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ให้เป็นกองทุนเดียว เพื่อประหยัดงบและการบริหารจัดการจะมีประสิทธิภาพขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะทุกคนจะได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทางภาคประชาชนกำลังคิดว่าจะรวบรวมเสนอต่อ คสช.เช่นกัน เพราะถึงเวลาต้องปฏิรูประบบสุขภาพอย่างแท้จริง
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผลักดันโดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คือ การสร้างความเสมอภาคให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม และการบริการต้องมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรณี การร่วมจ่ายนั้น หากเป็นการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ กล่าวคือ เรียกเก็บเมื่อเจ็บป่วยที่โรงพยาบาล ถือว่าขัดหลักการของระบบ เนื่องจากหากมีการเรียกเก็บเงินในคนที่สามารถจ่ายได้จะเกิดประเด็นโรงพยาบาลต่างๆ เข้ามาร่วม โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน เพราะคิดว่าคนมีกำลังซื้อจะแห่เข้ามา จากนั้นจะกลาย เป็นเน้นบริการในคนที่มีกำลังจ่าย และ ระบบบริการสุขภาพจะมากระจุกตัวในเมือง สุดท้ายตามชนบทห่างไกลจะกลายเป็นการบริการของคนจน และคนจนจะเป็นกลุ่มอนาถาที่ ได้รับบริการฟรี สุดท้ายเป็นระบบหลักประกันสุขภาพฯที่เป็นการสงเคราะห์ ขัดต่อหลักการของ นพ.สงวน
"แต่หากร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วย คือ มีการเก็บเงินเพื่อนำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก่อนจะเกิดการเจ็บป่วยนั้น สำหรับแนวคิดนี้ได้มีการหารือและเคยจัดทำร่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยนั้น คือ ช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเน้นให้มีการร่วมจ่ายผ่านวิธีเก็บภาษี ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาษี หรืออาจเป็นการเก็บจากภาษีหัวจ่ายน้ำมัน รวมไปถึงภาษีทางด้านธุรกรรมทางการเงิน แต่เรื่องต้องหยุดลง เพราะเกิดปัญหา ทางการเมืองในช่วงปี 2549" นพ.ประทีปกล่าว และว่า ประเด็นการร่วมจ่ายนั้น ต้องมีการพูดถึงนิยามให้ชัดเจนก่อน ว่าหากจะร่วมจ่ายเพื่อทำให้ระบบการเงินการคลังยั่งยืนนั้น จะต้องเป็นการร่วมจ่ายก่อนเกิดการเจ็บป่วยเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการหารืออย่างรอบด้านอีกครั้ง
นพ.ประทีปกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ในการประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอด้านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะจัดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่ง สปสช.เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานประกันสังคม ทั้งกรมบัญชีกลาง ดูแลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รวมทั้งภาคประชาชนต่างๆ และตัวแทนจากบุคลากรสาธารณสุข อาทิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตัวแทนโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะมีการหยิบยกประเด็นการร่วมจ่ายในระบบประกันสุขภาพภาครัฐด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานเพื่อขอให้ คสช.เข้าร่วมครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อได้ข้อเสนอเรื่องดังกล่าวจะส่งผ่าน คสช.ได้ทันที
- 24 views