มติชน -'เลขาฯแพทยสภา'หนุนให้ ปชช.ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ชี้เป็นเรื่องจำเป็น เผยรัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกปี เสนอโมเดลผู้ป่วยไม่เดือดร้อน-สมัครใจ ขณะที่ภาคประชาชนแจงไม่ได้คัดค้านทั้งหมด แต่ไม่เห็นด้วยร่วมจ่าย ณ จุดบริการหรือขณะเจ็บป่วย หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน ด้านเลขาธิการสปสช.เผย เวลานี้ไม่ใช่การพูดเรื่องร่วมจ่าย แต่ต้องลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนให้ได้ก่อน
จากที่เครือข่ายสุขภาพและภาคประชาชนจากองค์กรต่างๆ ทั้งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ฯลฯ ออกมาโจมตี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 30-50 ซึ่งแม้ปลัด สธ.จะออกมาปฏิเสธก่อนหน้านี้ แล้ว แต่ก็ยังมีการเสนอให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เปิดเผยรายงานการประชุมเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวนั้น
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า คำตอบยังคงเหมือนเดิม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ความจริง ตนไม่ได้พูดในที่ประชุมดังกล่าว ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงออกมาในลักษณะนี้อีก ขอย้ำว่า สธ.ไม่เคยมีแนวคิดร่วมจ่าย เป็นเพียงข้อเสนอที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม แต่ที่ประชุมก็ไม่ได้มีการพูดคุยและมีข้อสรุปในเรื่องนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่มติที่ สธ.เสนอ คสช.แต่อย่างใด มีเพียงการพูดถึงการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ให้บริการมีความสุขในการทำงาน ไม่มีแนวคิดเพิ่มทุกข์ให้กับประชาชนด้วยการให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากมีกระแสข่าวเรื่องการเสนอ คสช.ให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่งผลให้ขณะนี้ในโลกสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขในโรงพยาบาลรัฐ และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ซึ่งต่างออกมาโจมตี ในฐานะปลัด สธ.จะเรียกภาคประชาชนต่างๆ ที่ให้ข่าวเข้ามาหาข้อยุติร่วมกันหรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่ดี จะรับไว้พิจารณา ส่วนประเด็นที่มีกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชนออกมาระบุว่า ปลัด สธ.ไม่ได้เรียกประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มา 2 เดือน ทำให้การพิจารณาอนุมัติการใช้ยาต่างๆ ติดขัด และยังมีประเด็นที่ระบุว่า มีการ เตรียมยกเลิกกองทุนย่อยๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ นั้น เรื่องนี้ได้มีการหารือถึงการบริหารเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญและเคยเชิญ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. มาหารือ แต่ นพ.วินัย ติดภารกิจ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า อยากให้ ปลัด สธ.ดูเอกสารการประชุมและออกมายืนยันให้ชัดเจนกว่านี้ว่า เรื่องให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นความเห็นส่วนบุคคลหรือเป็นมติของ สธ. ซึ่งปลัด สธ.ต้องสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนและแสดงจุดยืนให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การออกมาพูดครั้งนี้เพราะมีความกังวลว่า ถ้ามีการเสนอ คสช.จริงแล้วมีการประกาศของ คสช.ออกมา จะมีผลบังคับใช้กับประชาชนทันที ซึ่งจะมีปัญหาตามมามากมาย จึงต้องออกมาพูดเพื่อให้เกิดการอธิบายและอยากเห็นการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความปั่นป่วนตามที่มีการกล่าวหา ส่วนเรื่องที่ประชาคมสาธารณสุขจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนใครก็ขอให้คิดดีๆ ว่าใช่หรือไม่ ขอให้ดูที่ประเด็นและเนื้อหาว่าอะไรคืออะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า จริงๆ แล้วภาคประชาชนคัดค้านประเด็นร่วมจ่ายทั้งหมดหรือไม่ นายนิมิตร์กล่าวว่า ไม่ใช่ หากพูดถึงความยั่งยืนเรื่องการเงินการคลังก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องตีความคำว่าร่วมจ่ายให้ดี หากจะมีการร่วมจ่ายโดยให้จ่าย ณ จุดบริการหรือขณะเจ็บป่วย คงไม่ใช่ เพราะจะแบ่งแยกคนจ่ายกับคนไม่จ่ายเกินไป และหากให้จ่ายถึง 30-50% ก็มากเกินไป ไม่ใช่สิทธิสวัสดิการอีก แต่ควรให้ร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วยในรูปแบบเก็บภาษีสุขภาพ จัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ แต่การจัดเก็บต้องคำนึงว่าจะไม่กระทบต่อผู้บริการเป็นสำคัญด้วย
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า วันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ปลัด สธ.ได้เรียกตนหารือแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นร่วมจ่ายนั้นคิดว่ายังไม่ถึงเวลาพูดตอนนี้ ควรไปพัฒนาบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ให้มีประสิทธิภาพไม่เหลื่อมล้ำกัน
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า สถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้ต้องพิจารณาเรื่องการร่วมจ่ายได้แล้วเพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบรักษาพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายที่รัฐแบกรับในระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกปี จึงน่าเป็นห่วงกับสถานการณ์ในอนาคตอีก 5-10 ปีต่อจากนี้กับภาระที่รัฐต้องดูแล แทนที่จะนำเงินไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ส่วนตัวแล้วเห็นว่าควรมีการกำหนดให้ประชาชนร่วมจ่ายโดยไม่เดือดร้อน จะต้องไม่มีการขายวัวขายควายเพื่อหาเงินมารักษาตัว แต่ควรให้ร่วมจ่ายในลักษณะสมัครใจเพราะประชาชนบางส่วนมีกำลังและยินดีที่จะจ่าย อาทิ หากประชาชนที่ต้องการยาที่นำเข้าจากต่างประเทศหรือยานอกบัญชียาหลักและต้องการจ่ายเงินเพื่อจะเอายานั้น ก็ให้จ่าย 20% แทนที่จะไปซื้อจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาสูง หรือกรณีการรักษาอย่างคนไข้มี 2 ประเภท คือ ผู้ป่วยนอก ก็ให้คงสิทธิการรักษา 30 บาทไว้ ส่วนผู้ป่วยในที่ต้องนอนโรงพยาบาลอาจให้จ่าย 20% ของการรักษา แต่ต้องกำหนดเพดานว่าไม่เกิน 5,000-10,000 บาท และต้องเป็นผู้ที่พร้อมจ่าย หากไม่มีก็ไม่ต้องจ่าย ซึ่งถ้าทำในลักษณะนี้สังคมก็จะเดินไปด้วยกันได้
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 15 กรกฎาคม 2557
- 2 views