ปลัดสธ.เผยต้องวางแผนจัดอัตรากำลังพยาบาลให้เหมาะสม รองรับเออีซี(AEC) และเขตสุขภาพ ในระยะเร่งด่วน 3 เดือนนี้ จะจัดบริการให้ประชาชน “ได้พบหมอ ไม่รอนาน ระบบยาเดียวกัน” พร้อมวางระบบบริการในเขต กทม. เน้นเครือข่ายร่วมมือโรงพยาบาลทั้งหมด รองรับการหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพเฉพาะทาง หลังเข้าประชาคมอาเซียนในปี 2558
วันนี้ (2 กรกฎาคม 2557) เวลา 15.00 น. ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเปิดประชุมวิชาการประจำปี 2557 เรื่อง “ปฏิรูประบบสุขภาพสู่ความเป็นเลิศทางการพยาบาลในประชาคมอาเซียน” (Thai Nursing Excellence for Health Care Reform to ASEAN ) จัดโดย สำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพัฒนาบริการพยาบาลในเขตบริการกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กลาโหม มหาดไทย การคลัง กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย และมูลนิธิ ดร.วรรณวิไล มีพยาบาลวิชาชีพร่วมประชุม กว่า 300 คน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการ สู่ความเป็นเลิศทางการพยาบาลในระดับอาเซียน โดยมี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เฝ้ารับเสด็จ
นายแพทย์ณรงค์ กราบทูลรายงานว่า พยาบาลนับเป็นบุคลากรในทีมสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีจำนวนมากที่สุดในระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการดูแลสุขภาพประชาชนเพื่อการมีสุขภาพดี ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) พ.ศ.2556-2560 เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยแบ่งการบริหารจัดการเครือข่ายบริการในส่วนภูมิภาคออกเป็น 12 เขตสุขภาพ เขตละ 5-7 จังหวัด ประชากรประมาณ 5 ล้านคน และ 1 เขต กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรมากที่สุดประมาณ 10 ล้านคน โดยกำหนดเป้าหมายพัฒนาระบบบริการสุขภาพเป็น 10 สาขา เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงในมาตรฐานเดียวกัน ในระยะเร่งด่วน 3 เดือนนี้ จะจัดบริการให้ประชาชน “ได้พบหมอ ไม่รอนาน ระบบยาเดียวกัน”
โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์รวมด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นสังคมเมืองมีลักษณะพิเศษ ซับซ้อน มีความหลากหลาย ต้องการบริการที่พิเศษแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งโรงพยาบาลทั้งรัฐ เอกชน ใน กทม. ส่วนใหญ่มีการจัดบริการเฉพาะทางเชี่ยวชาญครบทุกสาขา คาดการณ์ว่าเมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 จะมีการหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพเฉพาะทาง จาก 10 ประเทศสมาชิก ต้องวางแผนจัดบริการ เพื่อคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งการเพิ่มบริการขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น ดังนั้นพยาบาลซึ่งเป็นกำลังหลักในทีมสุขภาพ ต้องมีการวางแผนทั้งการจัดอัตรากำลังที่เหมาะสม และปรับทิศทางการทำงานรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ขณะนี้ทั่วประเทศมีพยาบาลวิชาชีพประมาณ 128,784 คน อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 86,591 คน และในปีการศึกษา 2557-2560 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผลิตเพิ่มอีก 27,960 คน
อนึ่ง ในการนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้กราบทูล เบิกผู้ถวายเงินสมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ผู้เข้ารับโล่เชิดชูเกียรติ และผู้รับเกียรติบัตร จำนวน 24 รายด้วย
- 4 views