เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เวบไซต์เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้มีการทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางการติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของซองบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ.2556 ที่กำหนดให้พื้นที่บนซองหรือกล่องบุหรี่ต้องแสดงภาพพิษภัยของการสูบบุหรี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของด้านที่มีพื้นที่มากที่สุดอย่างน้อย 2 ด้าน
ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากบริษัทเจที อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์) จำกัด และเจที อินเตอร์เนชั่นแนล เอสเอ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อดังจากญี่ปุ่น (มายเซเว่น หรือมีเวียส) ยื่นฟ้อง รมว.สาธารณสุขและกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ถูกฟ้องที่1-2ขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว โดยระหว่างการพิจารณาคดี ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ส.ค.56 กำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งกระทรวงสาธารณสุขระงับการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวไว้ก่อน ทำให้ปัจจุบันภาพและข้อความเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ที่ปรากฎบนซองบุหรี่ มีขนาดร้อยละ 55ครอบคลุมพื้นที่ด้านหน้าและหลังซองหรือกล่องบุหรี่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2535 ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ยื่นอุทธรณ์คำสั่งระงับใช้ประกาศฯ ดังกล่าวของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ระบุว่าประกาศข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่าจะเกินขอบเขตวัตถุประสงค์ ของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประชาชนและเยาวชน และถึงแม้ในชั้นนี้จะฟังได้ว่าไม่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหลายประการจากการบังคับใช้ประกาศ เช่น จะเป็นภาระแก่บริษัทเจที เกินสมควรหรือไม่ ข้อกำหนดดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มครองผู้บริโภคได้จริงหรือไม่ แต่หากพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้วจะเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลพึงพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ไม่อาจเป็นสาระสำคัญถึงขนาดศาลจะใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวในชั้นนี้ได้และแม้จะมีข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะมีผลต่อผู้บริโภคยาสูบอยู่ชั่วขณะบ้างก็ตาม แต่วิธีการดังกล่าวการดังย่อมมีผลต่อผู้บริโภคบุหรี่รายใหม่ในระดับหนึ่ง ดังนั้นในชั้นนี้ ประกาศดังกล่าวจึงไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งหากต่อมาหากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวก็สามารถเยียวยาความเสียหายให้กับบริษัทได้ โดยไม่กระทบต่อเครื่องหมายการค้าหรือสิทธิประโยชน์ใด ๆ รวมทั้งมีข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่ามีผู้ผลิตบุหรี่รายอื่นสามารถปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวได้ จึงฟังไม่ได้ว่าการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวเป็นปัญหาในเชิงเทคนิคการผลิตที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ดังนั้นเมื่อศาลเห็นว่ากรณีนี้ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากให้ประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไประหว่างการพิจารณาคดีก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หากพบว่าประกาศไม่ชอบจึงเป็นกรณีที่การออกคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศของศาลปกครองชั้นต้นไม่ครบตามเงื่อนไขแห่งการที่ศาลปกครองจะใช้อำนาจออกคำสั่งทุเลาได้ จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกรณีการเพิ่มขนาดภาพอันตรายบนซองบุหรี่ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังมีบริษัทผู้จัดจำหน่ายบุหรี่ประมาณ 4 รายยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งคาดว่าในคดีอื่น ๆ องค์คณะก็จะมีคำสั่งเช่นเดียวกับคดีนี้
- 27 views