คกก.ร่วม 3 กองทุนรักษาพยาบาล ชง คสช. ออกประกาศห้าม รพ.เรียกเก็บค่ารักษาฉุกเฉินกับผู้ป่วย แต่ให้เก็บจากกองทุนรักษาพยาบาลเท่านั้น เตรียมเสนอภายใน15 ก.ค. นี้ “ช่วยคืนความสุขให้ประชาชน” หลังพบการดำเนินงานช่วง 2 ปี พบผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินภายจำนวนมาก แถมมีแนวโน้มเพิ่ม บางรายถูก รพ.ฟ้องร้องเรียกเก็บค่ารักษา
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ฯ –เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 13:00 น .มีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 กองทุนสุขภาพ โดยมี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสปสช.สำนักงานประกันสังคม และนางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ร่วมประชุมคณะกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข”
ทั้งนี้ นพ.วินัย แถลงข่าวว่า จากการประชุมร่วมกันของผู้แทน 3 กองทุนรักษาพยาบาล มีความเห็นตรงกันในการเดินหน้าต่อระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้จัดทำระบบร่วมกัน 3 กองทุน เนื่องจากเป็นโครงการที่ดีช่วยผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาในภาวะวิกฤติได้ แต่จากการดำเนินระบบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งการถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ารับบริการฉุกเฉิน ซึ่งนับวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการจัดหาเตียงสำรองสำหรับรับส่งต่อผู้ป่วยหลังผ่านพ้นวิกฤติฉุกเฉินแล้ว
นพ.วินัย กล่าวว่า ในส่วนปัญหาของการถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลนั้น ในการดำเนินการที่ผ่านมามีเพียง พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ของทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ให้โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามเก็บเงินกับผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนหนึ่งถูกเรียกเก็บ และถูกฟ้องร้องตามมาในภายหลัง ซึ่งสร้างความทุกข์และเดือนร้องให้กับประชาชน ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่า ควรมีการออกกฎหมายรองรับที่ชัดเจน จึงเห็นควรให้เสนอเรื่องนี้ต่อทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อออกเป็นประกาศ หากทำได้ก็จะเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน ซึ่งหลังจากนี้ทางทีมกฎหมายของทั้ง 3 กองทุนจะไปดูข้อกฎหมายว่าจะกำหนดอย่างไร และจะนำเสนอต่อทาง คสช.ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม นี้
“ประเด็นสำคัญในวันนี้คือ มาตรการรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ อยากให้โรงพยาบาลทั้งระบบไม่เรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ให้เรียกเก็บค่ารักษามายังกองทุนรักษาพยาบาลแทน ที่ผ่านมายังไม่กฎหมายรองรับที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เราไม่ได้ต้องการทำเป็นเรื่องการกุศล แต่ก็ไม่ควรเป็นเชิงธุรกิจเช่นกัน ควรอยู่ในรูปแบบการช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมองว่า การเข้าร่วมระบบฉุกเฉินของโรงพยาบาลยังไม่ควรเป็นไปแบบสมัครใจ แต่ให้ถือเป็นภาระหน้าที่หน่วยบริการต้องดำเนินการร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบฉุกเฉินทั้งประเทศได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ทั้งนี้จากโพลสำรวจความพึงพอใจกองทุนหหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าในปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อการจัดทำระบบกองทุนฉุกเฉินสูงสุด
นพ.วินัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระโรงพยาบาล จึงได้ดำเนินการคู่ขนาดในการจัดทำเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) และการจ่ายตามรายการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สปสช.ที่จะดำเนินการ รวมไปถึงการจัดทำเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินในการเข้ารับบริการที่ชัดเจน นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเห็นควรให้เดินหน้าต่อ ทั้งในเรื่องการบริหารร่วมกัน ทั้งโรคไต เอดส์ และมะเร็ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันพร้อมกันนี้ให้เดินหน้าปรับการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยในกรณีที่มีการเปลี่ยนถ่ายสิทธิ
ด้าน นพ.สุรเดช กล่าวว่า ในส่วนการทำงานร่วมกัน ทาง สปส.จะดำเนินการในส่วนของยากระตุ้นเม็ดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่สมเหตุผล
ขณะที่นางสาวชุณหจิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง 3 กองทุนได้ร่วมกันทำงานได้ดีในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องโรคไต เอดส์ และมะเร็ง ซึ่งหลังจากนี้จะเดินหน้าร่วมกันในการจัดทำระบบในส่วนระบบข้อมูลเพื่อให้เกิดการใช้งานร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงการรักษาและมีคุณภาพที่ดีขึ้น
- 5 views