“คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” เคาะรับรอง 3 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เตรียมส่งเข้า ครม. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ พร้อมเห็นชอบ 3 ข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากประเทศไทย หนุน สปสช. ปรับสิทธิประโยชน์ และให้คลินิกเอกชนร่วมจัดบริการ-เพิ่มทันตกรรมทางไกล ส่ง สช. หารือกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำตาล ที่ประชุมไฟเขียวกรอบงบประมาณ สช. ปี 67 รวม 406 ล้านบาท รองรับแผนงานสานพลัง-พัฒนานโยบายสาธารณะ
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธาน ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ทั้ง 3 มติ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอมติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานหลักประสานการดำเนินการตามนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 3 มติ ประกอบด้วย 1. การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน 2. การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) 3. หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
นายอนุทิน เปิดเผยว่า มติทั้ง 3 ของสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 15 ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ ที่ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายกว่า 63 ภาคี ที่ได้แสดงถ้อยแถลงต่อสาธารณะสนับสนุนมติ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือสำนักงานประกันสังคม เครือข่ายเด็กและเยาวชน เป็นต้น
“กระทรวงสาธารณสุขเองเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ และได้ให้ถ้อยแถลงในการร่วมขับเคลื่อนมติทั้งหมดนี้ ซึ่งเชื่อว่าพลังความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเดินหน้าตามมติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับสุขภาวะที่ดีของพี่น้องประชาชนได้ ตามเป้าหมายหลักของสมัชชาสุขภาพฯ ในการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ภายใต้โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ประธาน คสช. กล่าว
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ.2565-2566 กล่าวว่า ในส่วนของภาพรวมการจัดสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 เป็นไปอย่างชื่นมื่น จากความร่วมไม้ร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 1,500 คน ทั้งการร่วม ณ สถานที่ และร่วมประชุมออนไลน์ โดยมีผู้รับชมกิจกรรมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ (FB Live Streaming) ครั้งนี้ มากกว่า 64,000 ครั้ง
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ภายในงานนอกจากการพิจารณาและให้การรับรองทั้ง 3 ระเบียบวาระแล้ว ยังมีการปาฐกถาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอีกมากมาย พร้อมกันนี้ทาง คจ.สช. ยังได้มีการประกาศประเด็นที่อาจพัฒนาเป็นระเบียบวาระ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2566 จำนวน 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย 2. การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพภายใต้แนวคิด BCG Model 3. การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 4. ระบบยุติธรรมชุมชน ลดความขัดแย้ง เพิ่มสุขภาวะสังคม 5. การกระจายอำนาจสู่พื้นที่อย่างมีส่วนร่วม 6. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7. การพัฒนาระบบสุขภาพจิต โดย คจ.สช. ยังยินดีที่จะเปิดรับประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกันต่อไปในระยะหลังจากนี้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบสุขภาพช่องปาก ตามที่คณะกรรมการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทยเสนอ ทั้ง 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ 2. การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพช่องปากทุกด้าน 3. การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปาก พร้อมกับมอบหมายให้ สช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ในส่วนของรายละเอียดแนวทางภายใต้ข้อเสนอดังกล่าว เช่น สนับสนุนให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการส่งเสริมและป้องกันโรคในช่องปากในหน่วยงานภาครัฐ และสนับสนุนคลินิกทันตกรรมเอกชนมามีส่วนร่วมในการจัดบริการ, ปรับระบบการให้บริการทันตกรรมทางไกล (Tele-Dentistry) เพื่อพัฒนาศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง, เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพช่องปากในระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล กับแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม, การจัดเก็บภาษีระยะที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ของกรมสรรพสามิต ที่สนับสนุนให้คนไทยลดบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่ม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปากและสุขภาพโดยรวม เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบกรอบการจัดทำแผนเพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของ สช. รวมวงเงิน 406.91 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนงานหลัก ฉบับที่ 4 พ.ศ.2566-2570 ที่จะมีโครงการต่างๆ เช่น การสานพลังพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมรองรับสังคมสูงวัย การสนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ เป็นต้น
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า แนวทางการจัดทำงบประมาณฯ ปี 2567 ของ สช. ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทและนโยบายในระดับต่างๆ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยงาน ความต้องการของพื้นที่และประชาชน ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ
- 220 views