กรุงเทพธุรกกิจ -"หมอบุญ"จับมือนักธุรกิจพม่า ลงทุนโรงพยาบาลดักโอกาสการรักษา หลังพบคนพม่าเข้ามารักษาในโรงพยาบาลไทยมากเป็นอันดับ 2 ลงทุน 5,000 ล้านบาท บุก 3 เมืองหลัก ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ตัน ตาบิน เปิดแห่งแรกปลายปี 2558
นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผยว่า วานนี้ (23 มิ.ย.) เครือโรงพยาบาลธนบุรี ได้ลงนามความร่วมมือกับนาย ออง จี ซอ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อองชเวตีอินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้างจากประเทศพม่า เพื่อร่วมลงทุนและบริหารจัดการ ตั้งธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ จำนวน 150 เตียง ในพม่า มูลค่าลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายไทย 51% ฝ่ายพม่า 49%
โดยความร่วมมือดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่ง ของแผนการลงทุนร่วมกันในระยะ 3 ปี มูลค่าลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงพยาบาลใน 3 เมืองหลัก ประกอบด้วย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมือง ตัน ตาบิน (Htan Tabin ห่างจากย่างกุ้ง 10 กม.)
"โรงพยาบาลแห่งแรกจะเริ่มก่อสร้างภายในปลายปี 2557 และคาดว่าจะเริ่มเปิดบริการได้ปลายปี 2558 หรือ ต้นปี 2559 หลังจากนั้นค่อยทยอยเปิดโรงพยาบาลอีก 2 แห่งต่อเนื่องกันใน 2-3 เดือนถัดมา รวมถึงการเปิดคลินิกขนาดเล็กอีก 10 แห่ง ในย่างกุ้ง 5 แห่ง มัณฑะเลย์ 3 แห่ง และตัน ตาบิน อีก 2 แห่ง" นพ.บุญ กล่าว
เขายังกล่าวว่า พม่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสในการเข้าไปลงทุนธุรกิจบริการทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นประเทศอยู่ภายใต้ระบบปิดมานาน จึงขาดการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาล ทำให้ที่ผ่านมาคนพม่าที่มีฐานะดีมักจะเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย ทำให้จำนวนลูกค้าพม่ามากเป็นอันดับ 2 ของโรงพยาบาลเอกชนไทยหลายแห่ง นั่นทำให้เครือโรงพยาบาลธนบุรี มองเห็นโอกาสดังกล่าวจึงเข้าไปลงร่วมทุนตั้งโรงพยาบาลในพม่า เพื่อตอบสนองกับความต้องการรักษาพยาบาลที่ขยายตัว ทั้งคนพม่าและนักลงทุนที่เข้าไปทำธุรกิจในพม่าเป็นจำนวนมาก หลังพม่าเปิดประเทศ
"ธุรกิจโรงพยาบาลในพม่ามีโอกาสมาก หลังรัฐบาลพม่าเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบประกันสังคม โดยคนมีรายได้ปานกลางไปจนถึงมีรายได้สูง จะจ่ายเงินไปกับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนในพม่ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ" เขากล่าว
นพ.บุญ กล่าวว่า โครงการร่วมทุนครั้งนี้ธนาคารเคเอฟดับเบิลยู ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนและพัฒนาประเทศเยอรมนี อยู่ระหว่างพิจารณาให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยร่วมมือกับธนาคารเอเอ็มอี อินเตอร์เนชั่นแนล จากออสเตรีย ในสัดส่วนการให้สินเชื่อรวม 60 % ของเงินลงทุน โดยคาดว่าจะศึกษาความเป็นไปได้โครงการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนจากนี้
ด้านนายออง จี ซอ กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนต่างชาติขนาดใหญ่แห่งแรกที่ตั้งขึ้นในพม่า จากจำนวนโรงพยาบาลเอกชนในพม่าจำนวน 42 แห่ง
เขายังกล่าวถึง สาเหตุที่เลือกเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับบริษัทไทยว่า เนื่องจากมีวัฒนธรรม ศาสนา รวมถึงชายแดนที่ใกล้กัน ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลในไทย ถือว่ามีศักยภาพในการให้บริการและมีการบริการจัดการที่ดีทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การจัดการด้านบุคลากร
นพ.บุญยังกล่าวถึงผลการลงทุนโรงพยาบาลในจีนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า เป็น การร่วมทุนกับรัฐบาลจีนเพื่อเข้าบริหาร โรงพยาบาลใน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาล ในปักกิ่ง 2 แห่ง และเจียงซูอีก 1 แห่ง มูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะคืนทุนใน 7 ปี (2555-2560)
นอกจากนี ในปีนี้จะเริ่มทยอยลงทุน โครงการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ครบวงจร ภายใต้การลงทุนของเครือโรงพยาบาลธนบุรี 100% ครั้งแรกในจีน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ส่วนแผนการลงทุนในประเทศ เขาเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตั้งงบลงทุนในระยะ 3 ปี (2556-2558) ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ไม่รวมเงินลงทุนในส่วนของการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงคนไข้ให้เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากเห็นว่าตลาดในประเทศยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะโอกาสที่จะเข้ามาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 ซึ่งมองว่าจะมีคนไข้ต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีแผนจะเพิ่มจำนวนเตียงคนไข้ในประเทศอีก 300 เตียง ใน 3 โรงพยาบาลในเครือ (แห่งละ 100 เตียง) ได้แก่ โรงพยาบาลใน จ.จันทบุรี ร้อยเอ็ด และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จากปัจจุบันที่มีจำนวนเตียงคนไข้อยู่ที่แห่งละประมาณ 200 เตียง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มิถุนายน 2557
- 334 views