ตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัยใกล้เป็นจริง หลังสกอ.หารือสปสช.ใช้โมเดลกองทุนรักษาพยาบาลอปท. ด้าน ‘รศ.วีรชัย’ ผู้ผลักดันต่อเนื่อง ชี้พนักงานมหาวิทยาลัยแม้ให้สปสช.บริหารกองทุนรักษาพยาบาลแต่ยังได้สิทธิกองทุนชราภาพและกองทุนว่างงาน แต่ยังกังวลปัญหากองทุนสปส.ขาดทุนในอีก 30 ปีแนะสปส.ใช้โมเดลนี้แก้ปัญหากองทุนสปส.ขาดทุน ให้สปสช.ดูแลสิทธิรักษาพยาบาลแทน ส่วนสปส.ดูสิทธิสวัสดิการสังคมอื่นๆ จะดีกว่า ข้องใจสปส.ตรวจสอบยาก แม้ขอข้อมูลยังไม่ได้ จี้ปฏิรูปสปส.ด่วน ก่อนทำพังทั้งระบบ
ห้วงเวลาที่ผ่านมากองทุนประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ถูกกระแสเรียกร้องสิทธิประโยชน์ และการบริการจากผู้ประกันตนมาโดยตลอด แม้ สปส.จะพยายามเพิ่มสิทธิประโยชน์มากเพียงใด แต่ในเรื่องการบริการ ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ควบคุมการบริการยากก็ยังเป็นจุดอ่อน ล่าสุดพนักงานมหาวิทยาลัยยังรวมตัวกันแสดงเจตจำนงขอออกจากระบบประกันสังคมด้วย นำโดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
โดย รศ.วีรชัย ได้ออกมาเรียกร้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้จัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย เฉกเช่นกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ/พนักงานท้องถิ่น เนื่องจากมองว่าพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สมควรได้รับสิทธิสวัสดิการที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการ และหากไม่ได้สิทธิสวัสิดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ก็ควรได้รับสิทธิรักษาพยาบาลที่ใกล้เคียง และมองว่าสปสช.สามารถบริหารจัดการสิทธิรักษาพยาบาลได้ดี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.วีรชัย บอกว่า หลังจากได้มีการร้องขอให้ สปสช. เป็นผู้ดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย แทน สปส. เนื่องจากทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยต้องใช้สิทธิประกันสังคม ทั้งๆที่เป็นข้าราชการ จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหารือข้อกฎหมายตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยมีข้อสงสัยว่า พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะอยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ หรือไม่ ซึ่งได้รับแจ้งว่า ไม่มีอำนาจตีความให้ได้ เว้นแต่หน่วยงานของรัฐหรือตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีจะขอความเห็นมา
"เรื่องนี้มีตัวอย่างจาก สปส.ทำหนังสือขอหารือพนักงานของสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ว่าอยู่ในบังคับตามพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ หรือไม่ ซึ่งข้อสรุป ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจาก สวทช.ไม่ใช่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น ขณะที่พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการพนักงานรัฐ อยู่ในส่วนราชการ โดย มหาวิทยาลัย ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยก็เป็นข้าราชการของ ศธ. ก็น่าจะอยู่ในข้อยกเว้นของพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ" รศ.วีรชัย กล่าว
จากข้อเรียกดังกล่าว ล่าสุด ศูนย์ประสานงานฯ ได้หารือร่วมกันกัสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ถึงการตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมีความคืบหน้ามาก เนื่องจากหลังจากมีการหารือร่วมกัน มีความเป็นไปได้ในการก่อตั้งกองทุนดังกล่าว โดยสปสช.จะจัดตั้งคล้ายกองทุนรักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งกฎหมายเอื้อให้ดำเนินการ ในมาตรา 9 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ประกอบกับพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สอดคล้องกับการอยู่ในระบบของสำนักงานประกันสังคม(สปส.)
“ปัญหาคือ ตัวเลขของพนักงานมหาวิทยาลัยขณะนี้ยังไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากพนักงานมหาวิทยาลัย ที่เป็นพนักงานประจำ รวมทั้งพนักงานราชการและลูกจ้างมีอยู่ 130,000 คน แต่ยังไม่รวมตัวเลขลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัยที่ทางมหาวิทยาลัยว่าจ้างด้วยเงินของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งตัวเลขดังกล่าว สกอ.ยังไม่มี ล่าสุดทราบว่าสกอ.เตรียมทำหนังสือเวียนไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อขอให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งแจ้งตัวเลขนี้แล้ว คาดว่าจะประชุมและเสนอตัวเลขทั้งหมดได้ในการประชุมร่วมกันอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อมูลภายใน 1 เดือน” รศ.วีรชัย กล่าว และว่า ถือเป็นความคืบหน้าที่มีความหวังมาก เพราะเมื่อได้ตัวเลขพนักงานมหาวิทยาลัยที่จะอยู่ในกองทุนของสปสช.ได้ทั้งหมด ก็จะนำมาคิดเป็นมูลค่าเงินของกองทุนได้ จากนั้นก็มาเริ่มว่าจะเดินหน้าอย่างไรให้ชัดเจนต่อไป
นอกจากนี้ รศ.วีรชัย ยังบอกว่า สำหรับการที่ย้ายสิทธิรักษาพยาบาลมาให้สปสช.ดูแล ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเงินสะสมกองทุนชราภาพจะหมดไปด้วย เพราะหากต้องการสิทธิดังกล่าวก็สามารถส่งต่อ เนื่องจากเดิมทีในระบบการจ่ายเงินจะมี 3 ส่วน คือ ส่วนรักษาพยาบาลเข้ากองทุนประกันสังคม 225 บาท ส่วนกองทุนชราภาพจ่ายเข้า 450 บาท และประกันว่างงานอีก 75 บาท ซึ่ง 2 กองทุนที่เหลือยังสามารถจ่ายได้เพื่อรอรับสิทธิอีก
รศ.วีรชัย กล่าวว่า ปัญหาคือ ในส่วนของกองทุนชราภาพ และกองทุนประกันว่างงาน หากพนักงานมหาวิทยาลัยต้องการจ่ายเงินสมทบอีก แต่ยังเกิดคำถามว่า กองทุนชราภาพจะประสบปัญหาเหมือนที่มีกระแสข่าวว่าอีก 30 ปีกองทุนดังกล่าวจะล้มละลาย จะทำอย่างไร เรื่องนี้ สปส.ควรชัดเจน และมีการทำงานที่โปร่งใส สิ่งหนึ่งที่ข้องใจมาตลอดคือ สปส.ดูเป็นอะไรที่ตรวจสอบยาก การประสานขอข้อมูลต่างๆ ก็ยาก ช่องทางหาข้อมูลก็ยาก ตรงนี้ควรแก้ไข จริงๆ ถึงเวลาที่สปส.ควรปฏิรูปตั้งนานแล้ว
สิ่งสำคัญคือ ในเรื่องกองทุนรักษาพยาบาลนั้นควรให้ผู้มีความรู้ความชำนาญมาดำเนินการทำ คือ สปสช. โดยควรให้สปสช.ดูแลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล และสปส.ทำหน้าที่บริหารกองทุนอื่นๆ เสีย จะได้มีเวลาและทุ่มเทกับการบริหารกองทุน ป้องกันไม่ให้เกิดกองทุนล้มละลายเหมือนที่หลายคนกังวลน่าจะดีกว่า ส่วนการลงทุนนั้น สปส.อาจไม่เหมือนกับกองทุนข้าราชการ หรือกบข.ที่เปิดโอกาสให้กู้เงินได้ เนื่องจากการปล่อยกู้เงินของสปส. ค่อนข้างเสี่ยง ในแง่ผู้ใช้เแรงงานหากมาขอกู้ และไม่มีเงินผ่อนส่ง เงินอาจสูญได้ รวมทั้งระบบการติดตามของสปส. ก็ไม่ทราบว่ามีระบบการบริหารจัดการอย่างไรด้วย
"เริ่มต้นสปส. อาจทำในลักษณะสมาชิกหุ้น โดยตั้งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ ปล่อยเงินกู้ตามสัดส่วนจำนวนหุ้น แต่ตรงนี้ต้องไปปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้การลงทุนเป็นไปได้" รศ.วีรชัย กล่าวทิ้งท้าย
- 3 views