"ในปี 2533 ผมได้มีโอกาสมาฟังปาฐกถาองแพทย์รุ่นพี่ที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นฯ พี่เขาบอกว่า จนถึงวันที่รับรางวัล เขาเข้ากรุงเทพฯมาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ....ไม่น่าเชื่อว่าในชนบทมันน่าจะมีอะไร คนเราถึงได้อยู่นานขนาดนั้น หลังจากวันนั้นผมจึงเลือกจะเป็นแพทย์ในชนบทดีกว่า..."
นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอ จังหวัดปัตตานี แพทย์ดีเด่นในชนบท คนที่ 40 กล่าวถึงจุดประกายของความฝันที่จะมาเป็นแพทย์ในชนบท
หลังจากที่ นพ.นิรันดร์ จบการศึกษาในปี 2537 เขาได้ตัดสินใจเลือกที่จะปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ประจำอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อ.ปะนาเระ และ อ.มายอ) จนมาถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา 19 ปีมาแล้ว โดยไม่คิดที่จะละทิ้งพื้นที่เพื่อศึกษาต่อเลย
เริ่มรับราชการครั้งแรกปี พ.ศ.2537 ในตำแหน่ง นายแพทย์ 4 และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลประนาเระ และในปี พ.ศ.2540 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอมาเป็นเวลา 17 ปี ซึ่งเป็นพื้นที่ระดับความรุนแรงสีแดง มีความแตกต่างและความหลากหลายของวัฒนธรรม มีปัญหาความอยากจนสูง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
"คนมายอเขาดูแลผมดีมาก ผมติดลูกน้อง ไม่ชอบที่จะออกนอกพื้นที่ ซึ่งในท่ามกลางความทุกข์ จะทำให้คุณเห็นคุณค่าในวิชาชีพของตนเอง"
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า คนในชนบทมีหมอน้อยกว่าคนในเมือง เวลาเจ็บป่วยทีต้องเข้าไปใช้บริการในเมือง ไปโรงพยาบาลที่มีหมอ และเครื่องมือที่พร้อมมากกว่า แต่ในขณะเดียาวกัน ในท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีความรุนแรง และขาดแคลนสิ่งต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี มีความสวยงามของความเป็นชนบทสวยงามแฝงอยู่ หมอที่ทำงานในชนบทได้นาน พวกเขาเหล่านี้จะเห็นคุณค่าในวิชาชีพของตนเอง เห็นความสวยงามของพื้นที่ ที่หาไม่ได้จากในเมือง โดยไม่มีเรื่องเงินหรือค่าตอบแทนเข้ามาเป็นปัจจัยหลัก
นอกจากนี้ นพ.นิรันดร์ ยังได้กล่าวถึงการเรียนต่อของแพทย์ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนต่อ เพราะบางครั้งการที่โรงพยาบาลอยู่ห่างไกล มีข้อจำกัดบางอย่างที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้เพิ่มเติม ดังนั้นการเรียนต่อของแพทย์จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือบางคนอาจมีข้อจำกัดทางด้านครอบครัว เหตุผลเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องของความเห็นแก่ตัว เพราะในโรงพยาบาลชุมชนเองก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างหลายประการ
"ถ้าให้คนในพื้นที่มาเป็นแพทย์ได้ เพื่อให้เขาได้ทำงานในพื้นที่จะเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการแก้ไขภาวะขาดแคลนแพทย์ควรเริ่มจากที่ระบบใหญ่ก่อน จากนั้นให้มาพัฒนาระบบการศึกษาในพื้นที่ เพื่อเอื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และครอบครัว" นพ.นิรันดร์ กล่าว
“หลายคนถามผมว่า ทำไมผมถึงอยู่ที่นี่ได้นานขนาดนี้ ปัจจัยที่สำคัญ คือ ลูกน้องของผม เรามีความผูกพันกัน ถ้าผมย้ายออกไปที่นี่จะมีปัญหาเรื่องแพทย์ และยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ผมอยู่ตต่อไปเรื่อยๆ จนลืมวันและเวลา สุดท้ายก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะย้ายออกไป”
ทั้งนี้การย้ายออกของแพทย์ในชนบทนั้น นพ.นิรันดร์มองว่า อาจประกอบด้วยหลายเหตุผล แพทย์ที่จะเข้ามาทำงานในชนบทจะต้องชั่งใจว่า อยู่ในชนบทแล้วมีความสุขมากกว่าการเรียนต่อเฉพาะทางแล้วเข้าไปอยู่โรงพยาบาลในเมือง แพทย์หลายท่านเลือกที่จะทำงานในชนบทด้วยเหตุผลอื่นๆที่เหมาะสมกับเขา ยิ่งถ้าหากเราต้องทำงานในแนวตะเข็บชายแดนแล้ว เรายิ่งจะเห็นคุณค่าในวิชาชีพ และจะทำให้เขาอยู่ในพื้นที่นั้นๆได้นาน
"ในส่วนของน้องๆแพทย์ที่เพิ่งจบหรือกำลังจะจบ ขอให้ลองไปเป็นแพทย์ในชนบทดูก่อน เพื่อลองเข้าไปดูว่า ในชนบทบางครั้งยังมีสิ่งที่สวยงามรออยู่และเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในเมือง" นพ.นิรันดร์กล่าว
สิ่งสุดท้ายที่แพทย์ดีเด่นในชนบทคนที่ 40 อยากจะฝากไว้คือ ในพื้นที่ที่มีความต่างและมีความรุนแรงเช่นนี้ อยากให้โรงพยาบาลเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างปลอดภัย อยากให้เขาละเว้นพื้นที่สุขภาพให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนจริงๆ
- 120 views