ผอ.โรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี คว้ารางวัล 'แพทย์ดีเด่นในชนบท 2556' หลังทำงานในพื้นที่ภาคใต้ยาวนาน 19 ปี ทั้งการรักษาผู้ป่วย และการดูแลสุขภาพจิตของคนในชุมชน และบุคลากรในโรงพยาบาล ท่ามกลางสภาวะที่กดดัน

วันนี้ (12 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเป็นประธานแถลงข่าว "ประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556" ว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ได้ตั้งรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทตั้งแต่ปี 2516 เพื่อเชิดชูแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในท้องที่ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะบัณฑิตแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในชนบท ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นทุกปี โดยปีนี้ผู้ได้รับรางวัลคือ นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี นับเป็นผู้ได้รับรางวัลคนที่ 40 โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเกียรติให้แสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แด่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม โปษะกฤษณะ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นผู้ที่เอาใจใส่ ดูแล สนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานของแพทย์ไทยในชนบทมาตลอด
       
รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556 กล่าวว่า การคัดเชือกพิจารณาจากคุณสมบัติคือ ต้องปฏิบัติงานในชนบทไส่น้อยกว่า 5 ปี ไม่จำกัดว่าต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โดยจะคัดเลือกหู้ที่มีความเหมาะสมที่สุด ทั้งด้านการบริการทางการแพทย์ การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ทางวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งการคัดเลือกในปีนี้มึการเสนอรายชื่อแพทย์ 14 คน คณะกรรมการพิจารณาแล้วจึงเดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานขั้นสุดท้าย 11 คน ซึ่งมีการสัมภาษณ์แพทย์ ผู้ร่วมงานและผู้มารับบริการ ทำให้ได้เรียนรู้ผลงานที่มีคุณค่า เช่น พัฒนาระบบฉุกเฉินทางอากาศ การออกหน่วยแพทย์บนดอย เป็นต้น
       
"นพ.นิรันดร์ แม้เป็นคน กทม. แต่ก็เสียสละไปทำงานในชนบทที่ห่างไกลและอันตรายตั้งแต่เรียนจบ เป็นเวลาร่วม 20 ปี ในภาะที่วิกฤต ทั้งเหตุความรุนแรงและความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลับเก็นโอกาสให้พัฒนากระบวนการสื่อสาร การดูแลแบบองค์รวม และการเยียวยาจิตใจของบุคลากรในโรงพยาบาล ผู้ป่วย ญาติ และคนในชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นพ.นิรันดร์ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้แพทย์จบใหม่เห็นคุณค่าของการทำงานในโรงพยาบาลชุมชน และเรียนรู้ถึงความสุขของชีวิตแพทย์ในชนบท" รศ.นพ.อนุพันธ์ กล่าวและว่า ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับมอบโล่เกียรติยศและเงินรางวัล ทั้งนี้ วันที่ 23 ก.ค. นพ.นิรันดร์ จะแสดงปาฐกถาฯ เรื่อง เส้นทางการสร้างสันติสุขภาวะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
 

นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต

ด้านเวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า สมัยเรียนเคยฟังปาฐกถาของรุ่นพี่ที่ได้รับรางวัลนี้ ได้เห็นความสำเร็จและความสุขของการเป็นแพทย์ชนบทมากว่า 20 ปี จึงมั่นใจว่าตนสามารถไปทำอะไรดีๆ ให้เกิดขึ้นในชนบทได้ เมื่อเรียนจบก็มีคนชวนไปเป็นแพทย์ที่ภาคใต้ โดยไปอยู่ที่ รพ.มายอ จ.ปัตตานี จนถึงปัจจุบัน และที่ตนอยู่มาได้นานขนาดนี้ เพราะมีแรงบันดาลใจจาก นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก เพราะเห็นว่าทำงานหนักในพื้นที่ชนบทมานานและมีความสุข นอกจากนี้ ตนยังได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งจากบุคลากรและคนในพื้นที่ ก็รู้สึกมีความสุข ที่สำคัญยังผ่านเหตุการณ์ด้วยกันหลายเหตุการณ์ จนกลายเป็นความผูกพัน เรียกว่าติดลูกน้องในพื้นที่ จึงไม่คิดที่จะย้ายไปประจำที่ไหนอีก โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อปี 2545 ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีคนไข้มาเข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น จึงคิดว่าหากตนย้ายออกแล้วใครจะขอร้องให้คนทำงานต่อโดยไม่ขาดคน ซึ่งตนก็ทำงานกันปีต่อปี จนลืมวันเวลา มารู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี
       
"การมาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความไม่สงบนั้น ไม่ได้ทำให้เห็นแต่ความทุกข์ แต่ทำให้เห็นคุณค่าในวิชาชีพด้วย เพราะบุคลากรทางการแพทย์ได้สิทธิพิเศษเข้าได้กับทั้งสองฝาย ไม่ว่าฝ่ายใดมารักษาก็เป็นมนุษย์ที่ต้องการการบริการที่ดี เชื่อมั่นว่าสันติภาพสามารถนำได้โดยระบบสุขภาพ และอยากให้วิชาชีพเราช่วยเหลือเยียวยาสังคม ทำให้สังคมสันติสุข ซึ่งบุคลากรทุกคนก็กำลังช่วยกันทำสิ่งนี้" นพ.นิรันดร์ กล่าว
       
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคิดเห็นกรณีแพทย์ใช้ทุนในชนบทครบ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่มักออกไปศึกษาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง แม้เรียนจบแล้วส่วนใหญ่ก็มักไม่เลือกมาอยู่ในชนบท นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติของปุถุชน เมื่อแพทย์อยากศึกษาต่อย่อมมีสิทธิ ซึ่งการศึกษาต่อเฉพาะทางก็มักต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่สูง ซึ่งพื้นที่ห่างไกลไม่เอื้ออำนวยตรงนี้ก็ต้องเข้ามาในเมือง เว้นแต่จะเป็นการศึกษาต่อเฉพาะทางในด้านเวชศาสตร์ชุมชน นอกจากนี้ คนที่ไปเรียนต่อเฉพาะทางเขามีความรู้สูง ก็ควรไปอยู่ในส่วนที่ต้องใช้ความสามารถเขาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพคือ ส่วนของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด เพราะโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ที่มาก็มักป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เจ็บป่วยธรรมดา ทำให้เขาไม่ได้ใช้ความรู้ที่ศึกษามาอย่างเต็มประสิทธิภาพ
       
นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจะดึงบุคลากรให้อยู่ในพื้นที่ได้นานๆ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องสร้างคุณค่าของการอยู่ในพื้นที่ให้เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องค่าตอบแทนจำนวนมากไม่ใช่คำตอบในการดึงคนไว้ในพื้นที่ ประเด็นสำคัญจะต้องดึงคนในพื้นที่จริงๆ คือพื้นที่ชนบทห่างไกลขึ้นมาเรียนแพทย์ เพื่อสุดท้ายเวลาจบแล้วจะได้มาอยู่ในพื้นที่ของตน แต่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่คนในพื้นที่ที่ได้เรียนแพทย์ก็จะมาจากอำเภอเมือง สุดท้ายก็กลับมาเป็นแพทย์บริเวณใกล้อำเภอเมือง แต่แพทย์ห่างไกลในชนบทก็ยังขาดแคลนอยู่ดี
       
"ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว เพราะแต่ละคนก็มีความจำเป็น มีเหตุผลแตกต่างกันไป อย่างเอาคนกทม.มาอยู่ในพื้นที่ชนบท ก็จะมีข้อจำกัดอย่างเรื่องของการกลับไปดูแลพ่อแม่ หรือการจะมาสร้างครอบครัวอยู่ที่ชนบทเลย สุดท้ายเมื่อมีลูก หากการศึกษาในพื้นที่ยังไม่พัฒนา เขาก็อยากให้ลูกได้เรียนในตัวเมืองที่มันพัฒนาแล้ว" นพ.นิรันดร์ กล่าว
       
ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2512 ปัจจุบันอายุ 45 ปี โสด เป็นบุตรของนายศานติและนางนรารัตน์ วิชเศรษฐสมิต เป็นชาวจ.นนทบุรี จบแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2537 เข้ารับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ 4 และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.ประนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2537 และดำรงตำแหน่งผอ.รพ.มายอ ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน โดยอ.มายอจัดอยู่ในพื้นที่ระดับความรุนแรงสีแดง