เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้ากว่า 50 คนจาก 15 ประเทศได้ยื่นอุทธรณ์ต่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาความตั้งใจเสียใหม่ที่จะจัดประเภทบุหรี่ไฟฟ้า หรือ อี-ซิกาแรต ให้อยู่ในระดับเดียวกับบุหรี่ปกติ โดยได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้เสียโอกาสอย่างมหาศาลในการลดอัตราการบริโภคบุหรี่ รวมไปถึงความเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่อีกด้วย
ก่อนการประชุมในหัวข้อที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การสนับสนุนกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ หรือ Framework Convention on Tobacco Control – FCTC (2) ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงมอสโก ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างออกมาตอบโต้เอกสารที่รั่วไหลมาจากการเตรียมงานประชุมของ FCTC ซึ่งชี้ให้เห็นว่าองค์การอนามัยโลกมีแผนการพิจารณาว่าบุหรี่ไฟฟ้า เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นเพียงอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางเลือกนอกเหนือจากการสูบบุหรี่หรือยาสูบแบบทั่วไป (3)
ศาสตราจารย์เกอร์รี่ สติมสัน ศาสตราจารย์กิตติคุณของวิทยาลัยอิมพีเรียลในลอนดอน กล่าวว่า “หากองค์การอนามัยโลกเข้ามามีบทบาทในการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าดับมอดลง จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนในตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถช่วยชีวิตได้หลายล้านคน โดยการตัดสินใจดังกล่าวจะเปรียบเสมือนการปัดความรับผิดชอบออกจากตัว เพื่อให้ผู้บริโภคกว่าล้านๆ คนต้องควบคุมสุขภาพด้วยตัวของพวกเขาเอง (4)” ศาสตราจารย์ผู้ลงนามในจดหมายและเป็นผู้จัดงาน Global Forum on Nicotine (5) ที่กำลังจะมาถึงยังกล่าวเสริมอีกว่า “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหาเสียเอง”
ผู้คนจำนวนกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลกเป็นผู้สูบบุหรี่ และองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการไว้ว่าอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดจากการบริโภคยาสูบจะมีจำนวนสูงถึง 1,000 ล้านรายในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้ เราจะไม่หยุดยั้งคิดค้นวิธีที่นำมาปฏิบัติได้จริงและมีจริยธรรมเพื่อช่วยลดการเสียชีวิตในลักษณะดังกล่าว โรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งความทุกข์ยากต่างๆ ที่เกิดขึ้น
นโยบายการควบคุมยาสูบในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจถึงอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการสนับสนุนมาตรการในการลดอัตราการบริโภคบุหรี่ และช่วยลดการบริโภคบุหรี่ได้จริงในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว (แต่ในขณะเดียวกัน อัตราการบริโภคบุหรี่ก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา) แต่สำหรับในโลกที่พัฒนาแล้วนั้น คนจำนวนมากก็ยังคงสูบบุหรี่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ และเกือบร้อยละ 30 ในประเทศอย่างสเปนและฝรั่งเศส เหล่านักสูบส่วนใหญ่ต้องการที่จะเลิกบุหรี่ แต่หลายรายพบว่าการเลิกนิโคตินนั้นทำได้ยาก หรือบางครั้งพวกเขาก็ไม่ได้ต้องการเลิกบุหรี่เลย
“การที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงพอกับผลิตภัณฑ์บุหรี่อื่นๆ นั้น เป็นการส่งข้อความที่ผิดให้กับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันกว่าหลายล้านคนที่พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อการเลิกบุหรี่” โรเบิร์ต เวสต์ หนึ่งในผู้ลงนามและศาสตราจารย์ด้านสุขภาพและจิตวิทยา รวมทั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการศึกษายาสูบประจำมหาวิทยาลัย University College ในกรุงลอนดอน กล่าว “ข้อความดังกล่าวจะกีดกันผู้สูบบุหรี่ในการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เราเสียโอกาสในการลดอัตราการบริโภคบุหรี่และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องทั่วโลก”
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าคนสูบบุหรี่เนื่องจากต้องการนิโคติน แต่กลับเสียชีวิตจากควันบุหรี่ การตายและโรคที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่เกิดจากการสูดดมอนุภาคหรือละอองของทาร์ และก๊าซสารพิษต่างๆ ที่ถูกดึงเข้าไปในปอด
การลงนามในจดหมายดังกล่าวเชื่อมั่นว่าเครื่องมือที่จะช่วยลดอันตรายจากการบริโภคยาสูบอย่างบุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีอันตรายน้อยกว่า เช่น Snus (ที่มีลักษณะคล้ายยาฉุน) อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี การบริโภคนิโคตินในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่ติดไฟเช่นนี้ จะช่วยลดความอันตรายต่อสุขภาพของเหล่านักสูบในปัจจุบัน
“การใช้บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นการปฏิวัติที่นำโดยผู้บริโภค และเติบโตจากฐานความคิดริเริ่มด้านสุขภาพของประชาชนที่อาจสามารถช่วยชีวิตคนได้กว่าหลายล้านคน” จอห์น บริตตัน ศาสตราจารย์ด้านโรคระบาด ณ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร กล่าว “อัตราการบริโภคแสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้สูบบุหรี่ต่างต้องการเลือกผลิตภัณฑ์นิโคตินที่จะไม่คร่าชีวิตของพวกเขา ผมหวังว่าองค์การอนามัยโลกและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจะตระหนักและรับรู้ถึงประโยชน์ด้านโอกาสทางสุขภาพที่บุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถให้ได้”
ในจดหมายถึงมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลก ผู้ลงนามจำนวน 53 คนได้ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความอันตรายของยาสูบจะมีบทบาทสำคัญในงานประชุมของสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการลดโรคไม่ติดต่อ
พวกเขาเชื่อว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในการลดอัตราการบริโภคบุหรี่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดในการลดโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยเหตุนี้ การต่อต้านผลิตภัณฑ์นิโคตินที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่นบุหรี่ไฟฟ้า จึงขัดแย้งกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยให้องค์การอนามัยโลกบรรลุเป้าหมายสูงสุด
ข่าวต้นฉบับภาษาอังกฤษ
http://nicotinepolicy.net/documents/media/WHO-COP-6-E-Cig-letter-Media-Release.pdf
- 32 views