คุยกับนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข อดีตผอ.สวรส.ต่อ ฉายภาพปัญหาขาดแคลนและการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพของไทยแล้ว ยังส่งผลถึงปัญหาการทับซ้อนจากการที่บางวิชาชีพต้องมาทำหน้าที่แทน เช่น พยาบาลทำหน้าที่แทนหมอในบางกรณี หรือพยาบาลเทคนิคทำหน้าที่แทนพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก ขณะเดียวกันวิธีการจัดการที่สธ.ใช้ ทั้งการบรรจุขรก. หรือออกนอกก.พ.นั้น ก็อาจยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงกับโจทย์ แท้จริงคำถามสำคัญของเรื่องนี้อาจจะเป็นว่า เรากำลังมองอนาคตของรพ.สังกัดสธ.อย่างไร เมื่อได้ภาพอนาคต การแก้ปัญหากำลังคนสุขภาพก็อาจจะทำได้ตรงกับโจทย์ที่แท้จริงมากขึ้น

นอกจากวิชาชีพ “แพทย์” ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแล้ว นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  กล่าวว่า “พยาบาล” เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพทางการแพทย์ของบ้านเราที่ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนเช่นกัน แม้ว่าที่มีผ่านมาจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตจำนวนมาก แต่ด้วยเป็นวิชาชีพที่มีอายุงานสั้น จากลักษณะของงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ชีวิตการทำงานต้องสลับเวรเช้า บ่าย และค่ำ กลายเป็นข้อจำกัดไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ประกอบกับภาระงานที่ค่อนข้างมาก ทำให้พยาบาลที่ทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง ส่วนหนึ่งจึงเลือกที่จะลาออกไปทำงานอื่นแทน และบางส่วนเลือกที่จะไปทำงานในสถานพยาบาลเอกชน และต่างประเทศ ด้วยเหตุผลภาระงานและค่าตอบแทนที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ปัจจุบันมีพยาบาลที่ทำงานอยู่ในระบบ 100,000-150,000 คน โดยยังคงขาดแคลน 20,000-30,000 คน 

ทั้งนี้ นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว การไม่ได้รับบรรจุตำแหน่งข้าราชการเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อการลาออกของพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มพยาบาลที่เป็นนักเรียนทุน เห็นได้จากการเรียกร้องบรรจุตำแหน่งข้าราชการที่มีพยาบาลเป็นวิชาชีพหลักในการออกมาเคลื่อนไหว จนกระทั้งรัฐบาลได้อนุมัติบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้กระทรวงสาธารณสุขกว่า 24,000 ตำแหน่ง โดยมีการบรรจุไปแล้ว 7,500 ตำแหน่ง เหลือที่ยังรอการบรรจุต่อเนื่องอีก 2 ปี  

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า “ทันตแพทย์” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างวิชาชีพในระบบสาธารณสุขที่ยังขาดแคลนเช่นกัน ซ้ำมีปัญหาขาดแคลนมากกว่าแพทย์มาก ซึ่งทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในภาคเอกชน หรือเปิดคลินิกเอง แต่ด้วยโรคทันตกรรมแม้ว่าผู้ป่วยจะทุกข์ทรมาน แต่ไม่ได้เป็นโรคที่เจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิต ในการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มทันตแพทย์ในระบบจึงถูกจัดอันดับให้ความสำคัญน้อยกว่าแพทย์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ถูกทดแทนด้วยการฝึกและอบรมบุคคลากรขึ้นมาทำงานแทนในฐานะผู้ช่วย ไม่ว่าจะเป็นวิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยา ที่มีพยาบาลถูกฝึกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนในการให้ยาสลบผู้ป่วย ทำให้แพทย์โรงพยาบาลชุมชนสามารถทำการผ่าตัดผู้ป่วยได้ รวมไปถึงการฝึกพยาบาลทำคลอด เช่นเดียวกับการอบรมทันตภิบาลเพื่อทำหน้าที่แทนทันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน หรือแม้แต่การฝึกพยาบาลเทคนิคเพื่อทำงานแทนพยาบาลวิชาชีพ

แต่ด้วยภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านเรียกร้องคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพมากขึ้น ซึ่งแม้แต่สภาวิชาชีพเองในระยะหลังมานี้ที่เริ่มมีจำนวนบุคลากรในวิชาชีพเพิ่มขึ้น (แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการในระบบ) ต่างลุกขึ้นมากำหนดมาตรฐานที่เป็นการจำกัดเฉพาะคนในวิชาชีพทำเท่านั้น

“เรามีตำแหน่งผู้ช่วย อดีตจนถึงปัจจุบัน ตำแหน่งผู้ช่วยเหล่านี้ได้มีบทบาทต่องานสาธารณสุขอย่างมากในทางพฤตินัย แต่ในระยะหลังๆ มานี้ ด้วยจำนวนบุคลากรแต่ละวิชาชีพมากขึ้น ผู้ช่วยทางการแพทย์และสาธารณสุขเหล่านี้จึงถูกลดทอนความสำคัญลง ทั้งที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ ดังนั้นเราจะให้มีการยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยวิชาชีพเหล่านี้หรือไม่ ตามที่มีการเรียกร้อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและคุณภาพบริการ หรือจะยังคงตำแหน่งผู้ช่วยวิชาชีพไว้ก่อน แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับการรักษาที่เป็นมาตรฐานรองลงมา เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง” อดีตผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวและว่า ดังนั้นเบื้องต้นจึงต้องกำหนดให้ได้ว่า อะไรคือความเพียงพอด้านบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย  

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ ยังได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อสมัยยังเป็น ผอ.สวรส.ว่า ขณะนั้นได้มีการประชุมผู้แทนวิชาชีพเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า เราไม่ต้องมานั่งพูดถึงการกระจายแพทย์กัน หากใน กทม.ยังไม่มีแพทย์เพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า เป็นความเห็นในมุมมองความเพียงพอของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีแพทย์มากพอ แต่ประเทศไทยอยู่ในระดับประเทศกำลังพัฒนา บุคลากรยังขาดแคลนอยู่มาก ดังนั้นแนวคิดความพอเพียงสำหรับประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าต้องเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข กระจายเพื่อให้คนในประเทศได้เข้าถึงการรักษาได้ เพราะหากการรักษาผู้ป่วยทุกรายต้องเป็นเลิศ ผ่าตัดทุกรายต้องใช้วิสัญญีแพทย์ ทำคลอดทุกรายต้องเป็นสูตินรีแพทย์ คงเป็นเรื่องใหญ่แน่ นั่งหมายความว่าผู้ป่วยทุกรายจะต้องเทเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ทั้งหมด

“ขณะนี้ในระบบรักษาพยาบาล ทางพฤตินัยเรายังให้พยาบาลรักษาผู้ป่วยแทนแพทย์ได้ในบางครั้ง จ่ายยาได้ แต่ในด้านมาตรฐานเราจำกัดให้แต่เฉพาะแพทย์เท่านั้นที่ทำหน้าที่เหล่านี้ ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของพยาบาล ซึ่งในวิชาชีพอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาว่า ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือความผิดพลาดในการรักษาขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากการทำงานของผู้ช่วยเหล่านี้ไม่มีกฎหมายในการรองรับ กลายเป็นปัญหาโลกแตก”

กลับมาที่การบรรจุตำแหน่งข้าราชการ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ตำแหน่งข้าราชยังมีความสำคัญต่อวิชาชีพอื่นๆ ในระบบสาธารณสุขอยู่มาก ยกเว้นวิชาชีพแพทย์ เนื่องจากมีเรื่องสิทธิประโยชน์จากสวัสดิการข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจากการทำวิจัยพบว่า ค่าตอบแทนของข้าราชการเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชน โดยดูตลอดช่วงชีวิตการทำงาน พบว่า ข้าราชการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าในรูปสวัสดิการต่างๆ ต่างจากเอกชน จึงเป็นเหตุให้มีการดึงคนไว้ในระบบได้ รวมทั้งมีการเรียกร้องบรรจุตำแหน่งข้าราชการอย่างต่อเนื่อง

แต่ในด้านการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขนั้น นพ.พงษ์พิสุทธิ์ มองว่า ที่ผ่านม สธ.ได้มีการขอตำแหน่งบรรจุข้าราชการเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ต้องการตัวเลขบรรจุที่ชัดเจน ซึ่งการที่ สธ. จะบอกได้ว่าต้องการตำแหน่งบรรจุเท่าไหร่จึงจะเพียงพอนั้น เรื่องนี้มองว่า ก่อนอื่น สธ.ต้องกำหนดว่า จะให้สถานะโรงพยาบาลสังกัด สธ. เป็นหน่วยงานอะไรในอนาคต ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกระจายอำนาจยังอยู่ และแนวโน้มจะต้องไปสู่ “โรงพยาบาลในกำกับของรัฐ” ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ตำแหน่งข้าราชการอาจไม่ใช่ทางออก เพราะต้องเปลี่ยนไปสู่พนักงานของรัฐ ดังนั้นสถานะในอนาคตของโรงพยาบาลสังกัด สธ.จึงต้องมีความชัดเจนก่อน

ส่วนข้อเสนอที่ให้แยก สธ.ออจาก ก.พ.นั้น มองว่าข้อเสนอนี้ก็เพื่อให้ สธ.สามารถกำหนดกำลังคนรวมถึงการตั้งอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนได้เอง  แต่ปัญหาคือจะเอางบประมาณมาจากไหนเพื่อนำมาเพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทนนี้ ซึ่งหากนำมาจากงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชน งบเงินเดือนและค่าตอบแทนก็จะบานปลายออกไป อย่างไรก็ตามในการเพิ่มอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนนี้ ก่อนอื่นควรจะต้องตอบคำถามในเรื่องประสิทธิภาพด้วย เพราะอย่างกรณีของโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่แยกเป็นองค์กรมหาชน บริหารอิสระ พบว่าสัดส่วนเงินเดือนที่จ่ายไปนั้น ไม่ต่างจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ. 

อดีต ผอ.สวรส. กล่าวปิดท้ายโดยย้ำว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขนั้น ด้วยเป็นหน่วยงานที่มีความหลากหลายของวิชาชีพ ในการแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้มิติที่หลากหลาย ประกอบกับความชัดเจนไม่ว่าจะเป็นบทบาทของวิชาชีพ ขอบเขตผู้ช่วยปฏิบัติงาน รวมไปถึงความชัดเจนของ สธ.ถึงสถานะในอนาคตของโรงพยาบาลในสังกัด สิ่งเหล่านี้จะช่วยในการกำหนดทิศทางเพื่อแก้ไขปัญหาได้ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์” อดีตถึงปัจจุบัน ปัญหาที่แก้ไม่ตก