กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยขณะนี้ ป่วยเป็นโรคที่สร้างเองมากกว่าโรคติดเชื้อ อันดับ1 คือเบาหวานและความดันโลหิตสูง ยอดป่วยรวมทั่วประเทศ 7 ล้านกว่าราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เร่งพัฒนาบริการลดป่วย โดยตั้งทัพสุขภาพระดับอำเภอ มีโรงพยาบาลเป็นแม่ทัพ สานมือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง องค์กรท้องถิ่น ชุมชน ฉีดวัคซีนชีวิต ยับยั้งพฤติกรรมเสี่ยงประชาชน เช่น อ้วน ขณะนี้เห็นผลสำเร็จที่ตำบลตะกาง จ.ตราด สามารถลดคนอ้วนได้เกือบร้อยละ 80 ลดผู้ป่วยรายใหม่ลงได้ร้อยละ 2
วันนี้ (5 มิถุนายน 2557) นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด นายแพทย์พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตราด ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะกาง ต.ตะกาง อ.เมือง จ.ตราด เพื่อติดตามความสำเร็จของการพัฒนาระบบริการสาธารณสุข ในด้านการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพดีแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
นายแพทย์วชิระ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายทุกเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต เร่งพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่มีประมาณ 800 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเครือข่ายสุขภาพที่มีความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการปัญหาสุขภาพในท้องถิ่น อย่างมีประสิทธิภาพ ลดจำนวนผู้เจ็บป่วย ลดความแน่นแออัดในโรงพยาบาล ปัญหาการเจ็บป่วยคนไทย อันดับ1ประเทศขณะนี้ เกิดมาจากโรคที่ประชาชนสร้างเอง คือ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน มีผู้ป่วยมากกว่า 7 ล้านคน บางคนเป็นทั้ง 2 โรค รวมแล้วมากกว่าโรคติดเชื้อหลายเท่าตัว เช่น มากกว่าโรคเอดส์ 3-7 เท่าตัว มากกว่าไข้เลือดออกประมาณ 70 เท่าตัว ที่สำคัญเมื่อป่วยแล้วจะเป็นโรคเรื้อรังติดตัว ไม่มียารักษาหายขาด ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดชีวิต มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล ประมาณร้อยละ 40 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
นายแพทย์วิชระกล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานดังกล่าว ได้ให้ทุกอำเภอ ตั้งทีมเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนเป็นแม่ข่าย และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ 9,750 แห่ง เป็นลูกข่ายดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย มีพฤติกรรมสุขภาพดีเหมาะกับวิถีชีวิตชุมชน ไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนกลุ่มที่ป่วยแล้ว ได้รับการดูแลเข้าถึงบริการ ควบคุมอาการให้อยู่ในระดับปกติ ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนอันตราย หากสำเร็จจะเป็นการยกระดับการพัฒนาสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เนื่องจากเป็นมาตรการที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกประสบผลสำเร็จ และแนวทางที่กระทรวงฯทำครั้งนี้ เป็นการระดมพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในอนาคตจะไม่ได้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว
ทางด้านนายแพทย์ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด กล่าวว่า ในปี 2557 จังหวัดตราด มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 6,034 ราย โรคความดันโลหิตสูง 9,447 ราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด ได้กำหนดทิศทางจัดการจัดการโรค โดยมีเป้าหมายหลักคือ ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน และลดพิการหรือเสียชีวิต มีคณะกรรมการพัฒนาระบบและขับเคลื่อนการควบคุมป้องกันโรคระดับจังหวัดและอำเภอ โดยตั้งเป้าพัฒนาให้จังหวัดตราด เป็นเมืองตราดสุขภาพดี ด้วย 6 อ. 2ส. 1ร คืออาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อบายมุข อนามัยสิ่งแวดล้อม อโรคยา สุขภาพดีวิถีไทย สายใยรักแห่งครอบครัว โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ สนับสนุนให้มีชุมชนสุขภาพดี อำเภอละ 1 ชุมชน เพื่อให้เป็นอำเภอต้นแบบสุขภาพ 4 ด้าน คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บุหรี่-แอลกอฮอล์ เอดส์ และไข้เลือดออก
สำหรับที่ต.ตะกาง มี 6 หมู่บ้าน ประชากรทั้งหมด 1,986 คน มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 98 ราย เบาหวาน 48 ราย เป็นทั้ง2 โรค 57 ราย เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 36 ราย และโรคมะเร็ง 7 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะกาง และโรงพยาบาลตราดซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเครือข่ายสุขภาพในเขตอำเภอเมือง บูรณาการทำงานส่งเสริมป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และคุมครองผู้บริโภค เริ่มดำเนินการพื้นที่ต้นแบบที่บ้านหัวหนอง ต.ตะกาง อ.เมือง เมื่อพ.ศ.2552 ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อสม. เป็นทีมสุขภาพอำเภอเมือง ประกาศเป็นนโยบายสุขภาพตำบลตะกาง ซึ่งมี 7 ประการ ได้แก่ 1. กินผักและผลไม้ปลอดสารพิษวันละครึ่งกิโล 2. ลดอาหารหวาน มันเค็ม 3. ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพหมู่บ้าน 4. ออกกำลังกายอย่างถูกต้องทุกวัน วันละ 45 นาที ยกเว้นวันอาทิตย์ 5. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่โมโหง่าย ไม่เครียด 6.ไม่ดื่มสุรา และ 7.ไม่สูบบุหรี่ ดำเนินงานเพิ่มในหมู่บ้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่องและครบทั้งตำบลในพ.ศ.2557 มีกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โดยใช้วอล์ค แรลลี่ ( Walk Rally) 5 ฐาน คือ ฐานวัดรอบเอว ฐานตรวจระดับน้ำตาลและวัดความดันโลหิต ฐานหลากหลายวิธีพิชิตพุง ฐานการเลือกอาหารและฐานอาหารหวานเค็มน้อย สร้างความสนใจประชาชน จดจำได้ดีกว่าการฟังบรรยาย มีสถานที่ออกกำลังกายของชุมชน ปลูกฝังพฤติกรรมเด็กในศูนย์เด็กเล็กกินผักผลไม้ ลดหวาน มันเค็ม
ผลการดำเนินงานพบว่าประสบผลสำเร็จ จำนวนประชาชนในตำบลตะกาง หุ่นดี รอบเอวอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ ชายไม่เกิน 34 นิ้วหรือไม่เกิน 90 เซนติเมตร หญิงไม่เกิน 32 นิ้วหรือไม่เกิน 80 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ในปี 2555 เป็นเกือบร้อยละ 80 ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพิ่มจากร้อยละ 8 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2557 ส่วนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควบคุมได้ร้อยละ 62 จำนวนผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ลดลงจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 6 ส่วนโรควาดันโลหิตสูงลดลง จากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 9 มีผู้สูงอายุ อายุยืนมากกว่า 90 ปี จำนวน 13 คน ในจำนวนนี้ มีอายุ100 ปี 1 คน ไม่มีโรคประจำตัว ผลงานครั้งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขต พ.ศ. 2554 และ 2555ในภาพรวมของจังหวัดตราดขณะนี้มีหมู่บ้านลดเสี่ยงลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 191 แห่ง ผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน 9,244 ราย เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง 29,449 ราย
- 107 views