หากเอ่ยถึงพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เชื่อว่าคงมีคนไทยไม่กี่คนที่รู้จักทั้งๆที่ก่อตั้งมานาน 20 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2536 แล้ว
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นอาคารหลังเล็กๆ เก่าๆ โทรมๆ ตั้งอยู่ริมถนนนิคมรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี แต่เนื้อหาที่อัดแน่นอยู่ภายในนั้น ทรงพลังเต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานที่มีส่วนร่วมกับสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย และเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งเดียวในประเทศไทยหรืออาจจะในเอเชียด้วยซ้ำ ในแง่ที่แสดงวิวัฒนาการของแรงงาน ทำให้ชาวต่างชาติทั้งฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน ที่นิยมเข้ามาเยี่ยมชม บางคนมาแล้วมาอีก หรืออย่างเช่นชาวญี่ปุ่น จะบรรจุพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในคู่มือการท่องเที่ยวเมืองไทยเลยทีเดียว ต่างจากคนไทยที่หากไม่ใช่ผู้อยู่ในแวดวงแรงงานแล้ว ก็หาคนรู้จักได้ยากนัก
แม้จะมีจุดเด่นในความที่เป็นแหล่งความรู้พัฒนาการประวัติศาสตร์ แต่ตัวพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก็มีปัญหาทั้งในแง่รายได้และความมั่นคง เพราะสถานที่ตั้งปัจจุบันคือทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งในอดีตการรถไฟได้มอบที่ผืนนี้สำหรับให้สหภาพแรงงานการรถไฟใช้ประโยชน์ และต่อมาทางสหภาพฯก็มอบสถานที่ให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่จากความเจริญด้านเศรษฐกิจ ก็ทำให้มีกระแสข่าวการไล่รื้อเอาที่ดินคืนเป็นระยะๆ เพื่อก่อสร้างมักกะสันคอมเพล็กซ์
นอกจากนี้ ในแง่รายได้ของตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ไม่เพียงพอ เพราะไม่ได้เก็บค่าเข้าชม ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะบริจาคให้มากน้อยแค่ไหน ส่วนรายได้อื่นๆก็มีเงินบริจาคหลักหมื่น-หลักพัน จากสหภาพแรงงานไม่กี่แห่ง นอกนั้นเป็นรายได้จากการรับจ้างผลิตสื่อ จัดนิทรรศการนอกสถานที่ บริการห้องประชุม และการทำโครงการต่างๆเพื่อขอรับเงินสนับสนุนมาหมุนเวียนใช้จ่าย ซึ่งรายได้เหล่านี้ไม่พอเพียงที่จะขยายงานหรือต่อยอดการเรียนรูปในรูปแบบอื่นๆได้เลย
ด้วยปัญหาที่รุมเร้า แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับพลวัตรสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ วันที่ 3 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริก เอแบร์ท จึงได้จัดเสวนาเรื่อง “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย –แนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้”เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการจัดตั้งองค์กรความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ตลอดจนระดมความคิดเห็นด้านการพัฒนาประวัติศาสตร์แรงงานในประเทศให้สอดคล้องกับบริบทสังคม
ทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย บรรยายสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า ตัวพิพิธภัณฑ์มีจุดอ่อนคือเรื่องสถานที่ที่มีความคับแคบเนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีสภาพคล่องที่ไม่ดีนัก ที่น่ากังวลอีกประการคือ มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะใช้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แปรสภาพไปเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกด้านอื่นเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ จึงจำเป็นต้องเร่งระดมความคิดเห็นหาทางออกก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่เกิดยุคใหม่หรือยุคที่ทุนมีอำนาจมาก อาจมองประวัติศาสตร์แรงงานว่าเป็นเรื่องล้าหลัง ขณะเดียวกันมักจะเห็นกลุ่มทุนนำเสนอเรื่องราวการเติบโตของทุนในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง เพื่อยกย่องเชิดชูและนำเสนอประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนในตระกูลตัวเอง ทั้งในแง่ความคิด หลักการ การเก็งกำไร และการสร้างรายได้ แต่กลับไม่เคยบันทึกถึงแรงงานในแง่ที่มีส่วนร่วมพัฒนาทุนเลย
“ทุกทุน ทุกธุรกิจมีแรงงานอยู่ แต่แปลก สังคมไทยปัจจุบันไม่รู้เลยว่า ชนชั้นแรงงานมีการก่อร่างสร้างตัวอย่างไร การกินอยู่และการรับค่าจ้างสอดคล้องกันไหม ทำไมชนชั้นแรงงานถึงถูกลืม ก็เพราะไม่มีองค์กรใดสร้างฐานความเข้าใจให้ประเทศเคารพพวกเขา ไม่มีศูนย์กลางนำเสนอข้อมูล ดังนั้นการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์คือเรื่องควรทำต่อ เพราะแรงงานคือคนที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจขยายไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแรงงานทุกคนที่ยังขายแรงงานในปัจจุบัน หรือ อดีตแรงงานที่ล่วงลับไปแล้วจะจากไป ผมเชื่อว่าพวกเขายังเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่ คนที่ยังทำงานก็เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต คนที่จากไปก็เป็นเชิงสัญลักษณ์”อาจารย์แล กล่าว
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่าเพื่อพัฒนาประวัติศาสตร์แรงงานให้มีคุณค่า ต้องสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และพยายามเสนอต่อสาธารณะให้แรงงานเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้ภาควิชาการหันมาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับทุน กับธุรกิจใหญ่ โดยให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ
"หากประเทศไทยรู้และเข้าใจรากเหง้าแรงงานมากขึ้น เช่น นักศึกษาปริญญาและนักธุรกิจเข้าใจว่า พ่อแม่รับจ้างเป็นเกษตรกร มีส่วนช่วยจ่าย เหงื่อใช้แรงงานหาเงินเลี้ยงดูพวกเขา หาเงินมาให้เขากลายเป็นนักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัย มีเงินทำธุรกิจ เมื่อเขารับรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น ช่องว่างการใช้ชีวิตก็ไม่เกิด การใช้บุคคลากรคนก็จะไม่กลายเป็นแค่ทรัพยากร นายจ้างจะมองลูกจ้างอย่างมีความห่วงใยในฐานะมนุษย์ไม่ใช่ทรัพยากร ใช้แล้วหมดราคา หมดคุณค่าทิ้ง ไล่ออก"อาจารย์แล กล่าว
นักวิชาการผู้นี้ ย้ำว่า จุดสำคัญคือ การอธิบายความรู้ด้วยการสร้างจิตสำนึกของมนุษย์ให้เข้าใจรากเหง้าของตนเอง หากรู้รากเหง้าก็จะให้ความเคารพเสมอ
ด้าน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนใช้แรงงานประมาณ 39 ล้านคน แต่แรงงานกลายเป็นคนไม่มีภูมิหลัง ไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ส่งผลให้ถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นการส่งเสริมประวัติศาสตร์แรงงานไทยทั้งแง่ท่องเที่ยว การศึกษา ความบันเทิง และอื่นๆ จึงมีความจำเป็น เพื่อให้อนาคตคนรุ่นหลังจะไม่นำประวัติศาสตร์การเอาเปรียบแรงงานมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมันก็มีพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้อยู่ ทุกคนรู้ว่าฮิตเลอร์ใช้แรงงานยิวและเอาไปฆ่า คนที่รู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ก็หลีกเลี่ยงนโยบายการเอาเปรียบคนยิวในฐานะแรงงานกลุ่มหนึ่ง
ขณะที่ สมชาย ณ นครพนม นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงพิพิธภัณฑ์ตามหลักสากลระบุว่า ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ มีการจัดองค์ประกอบที่เอื้อต่อการศึกษา มีความปลอดภัยต่อชีวิต และเน้นการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตที่มีจุดดึงดูดความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม แม้หลักสากลจะระบุเช่นนั้น แต่พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยก็ยังเผชิญปัญหาเดียวกันคือรายได้ต่ำ
"อยากเสนอให้ทางพิพิธภัณฑ์เร่งจัดการเรื่องระบบประชาสัมพันธ์และนำเสนอความสำคัญของสถานที่ด้วยการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นต่อไป โดยเรื่องสถานที่ตั้งคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ หากพิพิธภัณฑ์มีความน่าสนใจและมีระบบประชาสัมพันธ์ที่ดี ก็ย่อมดึงดูดความสนใจให้คนเข้าชมได้ เช่น อาจหาจุดเด่นของการส่งเสริมความรู้มากกว่าการชม การอ่าน แต่มีกิจกรรมอื่นแทรกด้วย และที่สำคัญหากเป็นไปได้พยายามพัฒนาให้คนทุกวัย ทุกระดับเข้าเยี่ยมชมได้"นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย กล่าว
- 30 views