คำว่า “ไพร่” เป็นคำเรียกขานประชาชนในสังคมไทยมานาน นอกจากจะเป็นสถานะทางสังคมอย่างหนึ่งแล้ว ระบบไพร่ ยังเป็นระบบบริหารราชการ และ ระบบจัดเก็บภาษีอีกด้วย เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม และในอดีตก็มีที่ดินว่างเปล่ามากมาย "คน"จึงเป็นที่ต้องการมากที่สุด และต้องมีระบบการควบคุมและจัดสรรประโยชน์จากกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสถียรภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอาณาจักร
ระบบไพร่เกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อใดยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด แต่มีหลักฐานย้อนไปถึงยุคสุโขทัย พบว่ามีน่าจะมีระบบไพร่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากจารึกสุโขทัยหลักที่ 38 ซึ่งคาดว่าจารึกขึ้น ราว พ.ศ.1916 (จารึกวัดพระมหาธาตุ-วัดพระศรี) มีถ้อยคำบ่งชี้ถึงการควบคุมกำลังคนอยู่หลายคำ เช่น ข้าท่าน คนท่าน ข้าอันขึ้นปีกท่าน และ ข้าชีบาพระอุปัธยาจารย์ ซึ่งแสดงนัยยะให้เห็นว่ามีการจัดสรรกำลังคนขึ้นสังกัดกับชนชั้นนำในสังคม
อย่างไรก็ตาม ระบบไพร่ที่กล่าวถึงในบทความนี้ จะเน้นเฉพาะสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น
สำหรับระบบไพร่ในสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งคนในสังคมกว้างๆออกเป็น 2 ชั้น คือ 1.มูลนาย หรือ นาย ซึ่งหมายถึงผู้ควบคุมกำลังคน ไล่ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ลดหลั่นกันมาตามลำดับศักดินา มูลนายคนหนึ่งก็ต้องขึ้นสังกัดต่อมูลนายที่อยู่สูงกว่าเป็นขั้นๆ โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่สูงสุดของมูลนายทั้งหมด
2.ไพร่ กับ ทาส คือกำลังคนที่ขึ้นสังกัดต่อมูลนาย ทั้ง 2 สถานะนี้ เปลี่ยนแปลงกันได้ตลอดเวลา ถ้าไพร่ขายตัวก็จะกลายเป็นทาส ส่วนทาสหากไถ่ตัวเป็นไทแล้วก็กลับไปเป็นไพร่ได้
อย่างไรก็ตาม คนทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องขึ้นสังกัดกับนาย มีพันธะต้องรับใช้หรือส่งสิ่งของเงินตรามาให้นายเป็นประจำ โดยหากเป็นการทำให้ราชการก็เรียกว่า การเกณฑ์ราชการ แต่หากทำให้แก่นายตามที่เรียกร้องส่วนตัว จะเรียกว่า การเกณฑ์นอกระบบราชการ
ทั้งนี้ มูลนายมีหน้าที่ควบคุมและเกณฑ์ราชการจากคนในสังกัด ทั้งในรูปแบบการใช้แรงงาน หรือ ส่วย สิ่งของ หรือ เงินตรา ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะพบว่าการเกณฑ์ส่วยก็เหมือนกับการเกณฑ์แรงงาน เพราะผู้ถูกเกณฑ์ก็ต้องลงแรงไปหามาอยู่ดี
ประเภทของไพร่
ระบบไพร่ควบคุมกำลังคนตามกรมกอง แต่ละกรมจะต้องประกอบด้วยข้าราชการสำคัญ 3 ตำแหน่ง คือ เจ้ากรม เป็นหัวหน้าสูงสุด ปลัดกรมเป็นผู้ช่วย และ สมุห์บัญชี เป็นผู้เก็บรักษาบัญชีคนขึ้นสังกัดต่อกรมนั้นๆ
ทั้ง 3 ตำแหน่งนี้จะร่วมกันควบคุมไพร่ในสังกัดของกรมผ่านทางลำดับขั้นของมูลนายที่ลดหลั่นกันมา เช่น ขุน หมื่น พัน นายร้อย ปลัดร้อย และหัวสิบ โดยกรมที่ว่านี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.กรมชั่วคราว หมายถึงกรมที่พระมหากษัตริย์โปรดต่างตั้งขึ้นสำหรับเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งบังคับบัญชา เมื่อแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดให้ทรงกรมแล้ว ก็มักจะพระราชทานคน คือข้าราชการและไพร่พลให้ด้วย
ไพร่เหล่านี้คือ ไพร่สม ในเจ้านายพระองค์นั้น กรมเหล่านี้มักมีอายุนานตราบเท่าที่เจ้านายพระองค์นั้นดำรงพระชนม์อยู่ หรือตราบเท่าที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงใดๆ ถ้าเจ้านายผู้ทรงกรมสิ้นพระชนม์ หรือ ถูกลงโทษออกจากฐานันดรศักดิ์ กรมจะถูกยุบและโอนคนในสังกัดเป็นของหลวง หรือตามแต่จะมีพระบรมราชการโองการพระราชทานให้แก่ผู้ใดต่อไป
2.กรมประจำ หมายถึงหน่วยงานที่ควบคุมกำลังคนและบริหารราชการแผ่นดินไปพร้อมกัน เป็นกรมที่มีชื่อปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และ พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง อย่างชัดเจน เช่น กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง กรมนา และกรมสุรัสวดี เป็นต้น ไพร่ที่สังกัดกรมประจำคือ ไพร่หลวง แม้ตำแหน่งเจ้ากรมจะว่างลง ไม่ว่าจะถึงแก่กรรมหรือย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น กรมประจำก็จะยังอยู่ ไพร่หลวงจึงเป็นไพร่ที่ขึ้นสังกัดกับตำแหน่ง ไม่ได้ขึ้นกับตัวบุคคลอย่างไพร่สม
การเป็นไพร่สังกัดกรมชั่วคราวหรือกรมประจำ จะมีผลต่อการเกณฑ์ราชการด้วย โดยไพร่หลวงต้องถูกเกณฑ์แรงงานหรือที่เรียกว่าเข้าเดือนตามระยะเวลาที่กำหนด มากน้อยแตกต่างกันไปตามยุคสมัย และได้รับอนุญาตให้กลับไปทำมาหาเลี้ยงชีพได้ในช่วงออกเดือน
นอกจากนี้ยังมี ไพร่ส่วย คือไพร่หลวงที่ไม่ได้ถูกเกณฑ์มาเข้าเดือนแต่ให้ส่งสิ่งของหรือเงินตราให้ราชการทุกปีๆแทน
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังไม่ได้มีไพร่แค่ 3 ประเภทนี้เท่านั้น ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งคือ ข้าพระ กับ โยมสงฆ์ ในส่วนของข้าพระนั้น เป็นไพร่หรือทาสที่มีผู้อุทิศถวายให้ดูแลพระอารามหรือพระสงฆ์ ส่วนโยมสงฆ์ มักเป็นญาติกับพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูง หรือสอบเปรียญได้ จึงควรให้โอนญาติจากสังกัดเดิมมาเป็นโยมสงฆ์คอยดูแลพระรูปนั้นๆ แต่ไม่ค่อยมีหลักฐานเกี่ยวกับการเกณฑ์ข้าพระโยมสงฆ์มาทำงานให้ราชการ ไพร่กลุ่มนี้จึงมีบทบาทในสังคมไทยน้อยมาก
การสักหมายหมู่
สังกัดของไพร่จะมีเกณฑ์ในการจัดแบ่งอยู่ใน พระไอยการบานผแนก ของกฎหมายตราสามดวงอย่างละเอียด มีตารางจัดแบ่งลูกของไพร่และทาสที่เกิดมาว่าใครควรขึ้นสังกัดของพ่อหรือแม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของกรมกองฝ่ายราชการหนักเป็นสำคัญ
ทางราชการจะจัดทำทะเบียนขึ้นสังกัดเมื่อเด็กอายุได้ 9 ขวบขึ้นไป แต่ไม่ได้เรียกเกณฑ์ราชการทันที การเรียกเกณฑ์จะทำได้ต่อเมื่อเด็กเหล่านั้นผ่านการสักหมายหมู่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสักเลก แล้ว เป็นการขึ้นทะเบียนครั้งสุดท้ายก่อนถูกเกณฑ์ราชการ โดยมูลนายเป็นคนยื่นทะเบียนหางว่าว ไพร่กับทาสในสังกัดต่อกรมพระสุรัสวดี หรือต่อสัสดีในหัวเมือง เพื่อตรวจสอบชำระทะเบียนเลกที่ทางราชการมีอยู่กับหางว่าวของมูลนายให้ตรงกันก่อนทำการสัก
ผู้พร้อมถูกสักเลกต้องวัดความสูงจากเท้าถึงไหล่ไม่ต่ำกว่า 2 ศอกคืบ ดังนั้นเด็กบางคนที่รูปร่างสูงใหญ่อายุ 14-15 ปี บางคนก็อาจถูกสักได้แล้ว การสักจะใช้เหล็กแหลมแทงตามเส้นหมึกที่เขียนสัญลักษณ์ หรือตัวอักษรบอกชื่อเมืองกับชื่อมูลนายต้นสังกัดไว้บนร่างกาย เมื่อสักแล้วจะถูกเรียกว่า เลก หรือ เลข และจะถูกเกณฑ์ราชการไปจนกว่าอายุจะถึง 70 ปี ถึงจะปลดได้ ยกเว้นตาย พิการ บวชเป็นพระ หรือมีบุตรมารับการสักเลกแล้ว 3 คน
การสักเลกสมัยก่อนกรุงธนบุรี จะทำกับไพร่เฉพาะบางกรมกองเท่านั้น เช่น กรมรักษาพระองค์ และกรมล้อมพระราชวัง แต่เมื่อถึงสมัยกรุงธนบุรี ก็มีการสักหมายหมู่ทุกกรมกองเป็นครั้งแรก โดยให้สักชื่อเมืองและชื่อมูลนายไว้บนข้อมือ
ล่วงถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงใช้วิธีสักแบบเดียวกับธนบุรี ตอนแรกต้องส่งไพร่ทาสมารับการสักในกรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาใช้วิธีส่งข้าหลวงไปตั้งกองสักเลกตามหัวเมืองต่างๆแทน
การสักข้อมือเลกนั้น มีตำแหน่ง 2 ที่ ถ้าไม่ใช่ท้องแขนก็จะเป็นที่หลังมือ โดยตามธรรมเนียม หากรัชกาลนี้สักที่ท้องแขน รัชกาลต่อไปก็จะสักที่หลังมือ สลับกันไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีเลกบางกรมกองที่ถูกสักตรงส่วนอื่นของร่างกาย พวกนี้มักสังกัดกรมกองพิเศษ เช่น กรมล้อมพระราชวัง และ กรมรักษาพระองค์ จะสักที่รักแร้ ขณะที่ฝีพายจะถูกสักที่ลูกกระเดือก สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันมาแล้ว และต้องมีสัญลักษณ์พิเศษบ่งบอกให้ต่างจากเลกทั่วไป
อย่างไรก็ดี การสักเลกนี้ ไม่ได้กระทำบ่อยครั้งหรืออย่างสม่ำเสมอ การสักเลกทั่วราชอาณาจักรในสมัยรัตนโกสินทร์มีไม่เกินรัชกาลละครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1,2 และ 4 ส่วนสมัยรัชกาลที่ 3 มีเพียงแค่ประกาศให้สักเลกในหัวเมืองลาวโดยมีเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นแม่กองเท่านั้น ซึ่งครั้งนั้นเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ผู้คนอพยพหลบหนีข้ามฝั่งโขงไปยังเมืองเวียงจันทร์ และลุกลามใหญ่โตจนเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ใน พ.ศ. 2369 จนต้องระงับการสักเลกไปเลย ขณะที่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้ประกาศให้สักเลกทั่วราชอาณาจักรเช่นกัน
การสักเลกสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ทำเฉพาะในกรุงเทพฯและหัวเมืองรอบราชธานีเท่านั้น จึงมีคนอีกมากที่ไม่ได้ถูกเกณฑ์ราชการเพราะไม่ได้รับการสักหมายหมู่ เท่ากับเปิดโอกาสให้คนที่ไม่อยากถูกเกณฑ์หลีกเลี่ยง เช่น หนีไปอยู่ตามป่าเขา กลายเป็นคนจรไร้สังกัด หลีกเลี่ยงไปสังกัดกับกรมกองงานเบา หรือหลีกเลี่ยงไปขึ้นกับมูลนายที่มีอิทธิพล เปิดโอกาสให้มูลนายใช้ประโยชน์จากคนในสังกัดตามใจชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้รับการสักหมายหมู่นั้น มูลนายมีโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เต็มที่และทางราชการตรวจสอบได้ยากเพราะทะเบียนหางว่าวที่มีอยู่ไม่ตรงกับความจริง
(หมายเหตุ : เรียบเรียงจากหนังสือประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร จัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิฟรีดริก เอแบร์ท)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- 41913 views