สธ.รับขายบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวไม่ถึงเป้า ยอดรวมเพิ่งได้กว่าแสนใบ เปิดขายตั้งแต่ 3 ส.ค.56 ตั้งเป้าใน 1 ปี ต้องได้ประมาณ 1.5 ล้านใบ ชี้ส่งผลกระทบกระทบ ปัญหาโรคติดต่อ และโรคระบาด เตรียมเสนอแนวทางให้รัฐบาลใหม่เคาะ
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีนโยบายดูแลสุขภาพคนต่างด้าว ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ที่ให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมด้วยการขายบัตรสุขภาพคนต่างด้าวขึ้น เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพพื้นฐานประจำปี โดยจำหน่ายในราคา 2,800 บาท รวมค่าตรวจสุขภาพ ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาเมื่อปี 2556 จำหน่ายได้ประมาณกว่าแสนใบ ซึ่งถือว่าไม่มากนัก เนื่องจากตัวเลขที่ผ่านมาเมื่อปี 2554 มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 1.9 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งประมาณ 7-8 แสนคนขึ้นทะเบียนดูแลสุขภาพกับสำนักงานประกันสังคม แสดงให้เห็นว่าตัวเลขที่ขาดหายไป และไม่ได้ซื้อบัตรสุขภาพยังมีอยู่ ซึ่งน่าห่วง เนื่องจากหากเจ็บป่วยจะไม่ได้รับการรักษาและยังมีโอกาสแพร่กระจายโรคอีก
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ซื้อใบสุขภาพกับประกันสังคม จะสามารถใช้บริการการรักษาต่างๆได้ต่อเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว 3 เดือน เนื่องจากต้องมีการจ่ายสมทบจากนายจ้างตามกฎระเบียบแรงงาน ซึ่งกรณีนี้น่ากังวล เพราะหากแรงงานเจ็บป่วยในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถรับการรักษาได้ ที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มนี้ก็จะเข้ามารักษาในระบบของ สธ. แทน ซึ่งแพทย์ก็ต้องให้การรักษาตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็มีแรงงานกลุ่มที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือไม่ได้ซื้อบัตรสุขภาพใดๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีปัญหาสุขภาพใดบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาหากมีการการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวจะพบว่ามี 1 ใน 100 คนมีปัญหาสุขภาพ ดังนั้น หากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ปัญหาโรคติดต่อ การระบาดของโรคต่างๆ ก็น่ากังวลด้วย
"ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการร่วมทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน ในการร่วมกันจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ แต่เมื่อมีการยุบสภา การบูรณาการจึงนิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ผมจะเสนอให้มีการปรับระเบียบให้แรงงานต่างด้าวดูแลกันเอง กล่าวคือ จัดตั้งพนักงานสาธารณสุขดูแลกลุ่มต่างด้าว หรือคล้ายๆ อสม.ซึ่งหากให้พวกเขาดูแลกันเองจะบริหารจัดการง่ายกว่า เนื่องจากพูดคุยกันรู้เรื่อง โดยหากรัฐบาลใหม่มีการประชุมเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ก็จะเสนอเรื่องดังกล่าวด้วย" รองปลัด สธ. กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดขายบัตรฯตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2556 เป็นต้นมา โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องขายให้ได้ 1.5 ล้านบัตร ในรอบ 1 ปี ซึ่งบัตรประกันสุขภาพแบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่
1.กลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและรอเข้าสู่ระบบการประกันสังคม กำหนดซื้อในอัตราคนละ 1,150 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ จำนวน 550 บาท มีอายุคุ้มครอง 90 วัน หลังจากนั้นก็จะอยู่ในความดูแลของระบบประกันสังคม
2.กลุ่มคนต่างด้าวทั่วไปที่ใช้แรงงานและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น รับจ้างทำงานภาคเกษตร ประมง ก่อสร้าง หรือติดตามครอบครัว อัตราคนละ 2,800 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี
3. กลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์อัตราคนละ 365 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี นับจากวันที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ
ในการตรวจสุขภาพต่างด้าว ได้กำหนดมาตรฐานตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่กำหนดได้แก่ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือดหาเชื้อซิฟิลิส เชื้อพยาธิโรคเท้าช้าง ตรวจปัสสาวะหาสารแอมเฟตามีน และการตั้งครรภ์ ตรวจสภาวะโรคเรื้อน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดควบคุมโรคในต่างด้าวรวม 5 โรคได้แก่ วัณโรค โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคซิฟิลิส และโรคพยาธิในลำไส้ จะให้ต่างด้าวทุกคนกินยาฆ่าเชื้อพยาธิเท้าช้าง และยาฆ่าพยาธิในลำไส้ เพื่อควบคุมโรคในวันที่ตรวจสุขภาพ และหากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อก็จะติดตามให้ยารักษาจนหายขาด และจะให้ใบรับรองแพทย์แก่ต่างด้าว เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการอนุญาตทำงาน มีอายุ 60 วัน
สำหรับสิทธิประโยชน์ในการประกันสุขภาพ ในกลุ่มของผู้ใหญ่จะได้รับการดูแลด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การบริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพ คลอดบุตร ป่วยฉุกเฉิน ยาต้านไวรัสเอดส์ การรักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ผ่าตัดสมอง เป็นต้น บริการทำฟันเช่น ถอนฟัน ขูดหินปูน ส่วนสิทธิประโยชน์ในกลุ่มของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น ฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐาน บริการทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง บริการยาต้านไวรัสเอดส์ ในกรณีที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ ทั้งแม่และเด็กจะมีบัตรสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อติดตามสุขภาพอนามัย พัฒนาการ จนเด็กอายุ 5 ขวบ
ชุดสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่ไม่คุ้มครองในแรงงานต่างด้าว ได้แก่ โรคจิต การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด การรักษาภาวะมีบุตรยาก อุบัติเหตุจากรถที่ใช้สิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ การผสมเทียม การผ่าตัดแปลงเพศ การกระทำใดๆเพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาใดๆที่เกินจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การเปลี่ยนอวัยวะ การทำฟันปลอม
- 18 views