กรมอนามัย ขยายพื้นที่การดำเนินงานโครงการนมฟลูออไรด์โดยในปีนี้เริ่มที่จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดแรก โดยมีเป้าหมายคือ นักเรียนชั้นอนุบาล และประถมศึกษาในจังหวัดตรัง จำนวน 80,000 คน ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ตั้งแต่เทอมแรก เล็งขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 57 ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานโครงการนมฟลูออไรด์ โดยในระยะแรกของการดำเนินงาน เด็กในกรุงเทพมหานครจะได้ดื่มนมฟลูออไรด์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ร่วมกับการต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามปกติ จะสามารถลดโรคฟันผุในฟันแท้ได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ถึงร้อยละ 34.4 และไม่พบผลเสียเรื่องฟันตกกระ ต่อมาได้ขยายไปในส่วนภูมิภาค 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สระแก้ว ชลบุรี กระบี่ และพัทลุง ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมามีเด็กกว่าหนึ่งล้านคน ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ ที่ผลิตโดยโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และโรงนมอื่นๆ รวม 20 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับอนุญาตการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ในปีนี้ได้ขยายโครงการไปยังจังหวัดตรังเป็นจังหวัดแรก เพราะจากผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพของจังหวัดตรังในปี 2556 พบว่า เด็กอายุ 3 ปี มีฟันน้ำนมผุร้อยละ 53.4 เด็กอายุ 12 ปี มีฟันแท้ผุ ร้อยละ 45.1 มีระดับฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคของชุมชนน้อยกว่า 0.3 ส่วนในล้านส่วน และยังไม่มีการใช้ฟลูออไรด์เสริมในระดับชุมชน มีความเป็นไปได้ในด้านการผลิต และจัดส่งนมฟลูออไรด์จากโรงนม 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด(ในพระบรมราชูปถัมภ์) และสหกรณ์โคนมชะอำ-ห้วยทราย จำกัด มีทันตบุคลากรในจังหวัดตรัง ร่วมดำเนินการ นอกจากนี้ จะขยายการดำเนินงานเพิ่มอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อให้เด็กในจังหวัดดังกล่าวได้ดื่มนมฟลูออไรด์ที่ส่งผลให้มีสุขภาพฟันที่ดี
"ทั้งนี้ นักเรียนชั้นอนุบาล และประถมศึกษาในจังหวัดตรัง จำนวน 80,000 คน จะได้ดื่มนมฟลูออไรด์ตั้งแต่เทอมแรกของ ปีการศึกษา 2557 พร้อมกับการติดตาม กำกับคุณภาพและความปลอดภัยโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง และสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ นอกจากนี้ กรมอนามัยยังมีนโยบายสนับสนุนการดื่มนมพาสเจอไรซ์เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก พร้อมกับส่งเสริมการดื่มนมฟลูออไรด์เพื่อลดโรคฟันผุ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาโครงการนมฟลูออไรด์ เพื่อลดโรคฟันผุ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาโครงการนมฟลูออไรด์ประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศเกาหลี มาเลเซีย บรูไน และมองโกเลีย โดยมีโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเป็นหน่วยงานฝึกอบรมด้านเทคนิคการผลิตนมฟลูออไรด์ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย" ทันตแพทย์สุธากล่าว
โครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทย ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2543 ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก และการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากมูลนิธิ The Borrow Foundation ประเทศอังกฤษ ในรูปแบบของการเสริมฟลูออไรด์ผ่านทางนมซึ่งอยู่ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเพื่อป้องกันฟันผุ โดยมี เงื่อนไขสำหรับจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ 4 ประการ ได้แก่ 1) มีโรคฟันผุสูง 2) มีปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคต่ำกว่ามาตรฐาน คือ น้อยกว่า 0.3 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และยังไม่มีการใช้ฟลูออไรด์เสริมอื่น ๆ ในระดับชุมชน 3) มีโรงนมที่สามารถผลิตนมฟลูออไรด์ พาสเจอร์ไรซ์ขนาดถุงละ 200 มิลลิลิตร ปริมาณฟลูออไรด์ 0.5 มิลลิกรัม/ถุง ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และจัดส่งไปยังโรงเรียนในพื้นที่ได้ 4) มีทันตบุคลากรในพื้นที่ร่วมดำเนินการ รวมทั้งติดตาม กำกับเพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย โดยโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนมฟลูออไรด์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และในปัจจุบันยังเป็นเป็นหน่วยงานฝึกอบรมด้านเทคนิคการผลิตนมฟลูออไรด์แก่โรงนมอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ
- 4 views