กรมอนามัย เตือนติดรสหวานเสี่ยงโรคเพียบ จับมือเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแผนงานคนไทยไร้พุง เร่งทำตามข้อเสนอ WHO ลดการบริโภคน้ำตาลของคนไทย แนะบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา
ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการสัมมนา วิชาการ เรื่อง ข้อเสนอองค์การอนามัยโลกเพื่อลดพลังงานจากน้ำตาลในอาหารประจำวัน ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ว่า น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของมนุษย์ เพราะร่างกายต้องการน้ำตาลกลูโคสส่งพลังงานไปเลี้ยงยังสมองและอวัยวะต่างๆ โดยปกติเราจะได้รับพลังงานน้ำตาลจากแหล่งอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ข้าวหรือผลไม้ รวมทั้งน้ำตาลที่ผู้ประกอบอาหารปรุงหรือเติมลงในอาหาร การได้รับน้ำตาลจากธรรมชาติไม่เป็นอันตรายนักเพราะมีปริมาณน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ น้ำตาลที่เติมลงไปในอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
ทพ.สุธา กล่าวต่อว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 104 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 26 ช้อนชา สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 4 เท่าตัว จากการสำรวจพบว่าแหล่งน้ำตาลส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มที่มีรสหวาน อาทิ น้ำอัดลมมีน้ำตาลประมาณ 8 - 10 ช้อนชา ชาเขียวมีน้ำตาลประมาณ 12 – 14 ช้อนชา กาแฟสดหรือชาชงมีน้ำตาลประมาณ 10 ช้อนชา จะเห็นได้ว่าเพียงขวดเดียวร่างกายของเราก็ได้รับน้ำตาลเกินแล้ว
ซึ่งเครื่องดื่มบางชนิดใช้น้ำตาลฟลุกโตสไซรัปสังเคราะห์แทนน้ำตาลทราย เพราะมีความหวานมากกว่าช่วยลดต้นทุนได้ แต่น้ำตาลประเภทนี้ถ้ารับประทานมากเกินไปและร่างกายเผาผลาญไม่หมดจะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และทำให้อ้วนลงพุง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับ เพราะเมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะตรงไปที่ตับทันที แต่ร่างกายจะดึงพลังงานจากส่วนอื่นไปใช้งานก่อนตับ เมื่อเผาผลาญหรือใช้ไม่หมดน้ำตาลก็จะเกาะอยู่ที่ตับ ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนควรตระหนักคืออ่านปริมาณน้ำตาลที่ฉลากและเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลอย่างพอเหมาะ โดยแนะนำไม่เกิน 5%
ทพญ.สุปราณี ดาโลดม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวันให้น้อยลง ถือเป็นเป้าหมายระดับโลก ล่าสุดในปี 2015คณะกรรมการวิชาการด้านโภชนาการและองค์การอนามัยโลก ได้จัดทำร่างข้อแนะนำ เรื่อง พลังงานอาหารใน 1 วัน โดยลดสัดส่วนพลังงานจากน้ำตาลอิสระ (Free sugar) ลงครึ่งหนึ่ง จากข้อแนะนำเดิมไม่เกินร้อยละ 10 เหลือไม่เกินร้อยละ 5 ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน หรือประมาณ 6 ช้อนชา รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หามาตรการลดการบริโภคน้ำตาลลงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ขณะเดียวกัน เนื่องในวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก สมาคมเบาหวานโลก (The International Diabetes Federation : IDF) ได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก โดยได้ออกเอกสาร IDF’s Framework for Action on Sugar เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ดำเนินการลดการบริโภคน้ำตาล
“กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแผนงานคนไทยไร้พุงจัดการสัมมนาวิชาการขึ้น เพื่อดำเนินงานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและสมาคมเบาหวานโลก ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และหามาตรการลดการบริโภคน้ำตาลของคนไทย รวมทั้งนำเสนอผลงานวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ การสำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม การขับเคลื่อนมาตรการในการกำหนดขนาดบรรจุน้ำตาลที่เหมาะสม และการสร้างทัศนคติเชิงบวกและแรงจูงใจในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นต้น” ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าว
- 247 views