“โอสถ” ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐ และกรรมการพกส. เตรียมนำลูกจ้างชั่วคราวและพกส.เข้าพบปลัดสธ.ในฐานะรักษาการรมว.สธ. ขอความเป็นธรรมค่าตอบแทนพกส. และเพิ่มสัดส่วนคกณะกรรมการ ด้าน “ทัศนีย์” อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เรียกร้องปรับหมออนามัยที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวให้ขึ้นเป็นพกส.ด้วย เผยทั่วประเทศมีหมออนามัยกว่า 6,000-7,000 คนที่ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ เสนอเปลี่ยนชื่อหมออนามัยเป็นนักสาธารณสุข ยกระดับวิชาชีพ และมีใบประกอบวิชาชีพเหมือนแพทย์ พยาบาล เพื่อยกระดับวิชาชีพ
นายโอสถ สุวรรณเศวต
26 พ.ค.57 นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย(สสลท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกจ้างชั่วคราวสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 140,000-150,000 คน ได้รับความไม่เป็นธรรมจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่องการยกระดับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.)ที่ก่อนหน้านี้มีการประชาสัมพันธ์ว่า พกส.จะได้รับสิทธิสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ และมาทดแทนตำแหน่งข้าราชการที่ไม่เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่แค่ลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ อย่างนักรังสี นักเภสัชกร นักเคมีบำบัด แต่ยังรวมถึงลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่ทำงานด้านเอกสาร หรือพนักงานเข็นเปลคนไข้ ฯลฯ ส่งผลให้ลูกจ้างชั่วคราวมีความหวัง แต่ปรากฎว่าหลังจากมีการออกระเบียบในการยกระดับดังกล่าว กลับไม่เป็นไปตามนโยบาย
นายโอสถ กล่าวอีกว่า เห็นได้จากเรื่องค่าตอบแทนของ พกส. ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยออกมาระบุตัวเลขขั้นต่ำเอาไว้ว่าในส่วนของสายสนับสนุนจะได้อยู่ที่ 7,590 บาท ส่วนฝ่ายวิชาชีพ เช่น พยาบาลจะอยู่ที่ 18,000 บาท และลดหลั่นกันไปตามแต่ละระยะเวลาการทำงานและสายงานนั้น ในทางปฏิบัติไม่มีใครได้จริง ในส่วนของสายสนับสนุนจะได้รับอยู่ที่ 6,510 -7,000 บาท พอมีการท้วงติงก็อ้างว่านับจำนวนวันทำงาน ไม่รวมเสาร์อาทิตย์ ซึ่งค่าแรงดังกล่าวน้อยมากกับค่าครองชีพปัจจุบัน ส่วนสิทธิสวัสดิการต่างๆ มีเพิ่มเพียงสามารถลากิจได้ 15 วันต่อปีจากเดิมไม่มี และลาป่วยได้ปีละ 15 วัน
“จากปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมาได้เสนอต่อคณะกรรมการพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีคณะกรรมการทั้งหมด 17 คน มีผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้างเพียงคนเดียวคือ ตนเอง นอกนั้นเป็นข้าราชการฝ่ายบริหาร เมื่อเสนอให้ปรับปรุงเรื่องค่าตอบแทน สิทธิสวัสดิการต่างๆ ก็ไม่เป็นผล เพราะผมมีเพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อต้องการเรียกร้องอะไรต่อลูกจ้างก็แทบไม่ได้อะไร ซึ่งจริงๆคณะกรรมการแบบนี้ต้องทำงานเหมือนบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งมีไตรภาคีจาก 3 ฝ่าย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ แต่นี้ไม่ใช่ ที่ผ่านมาบอกให้รื้อคณะกรรมการใหม่ ให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ก็ถูกตอบกลับว่าต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในการแก้ระเบียบ ดังนั้น ขณะนี้ปลัด สธ. ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการ สธ.แล้ว ทางกลุ่มตนก็จะมาขอความเป็นธรรมเรื่องนี้ คาดว่าจะขอเข้าพบภายในเดือนมิถุนายนนี้แน่นอน” นายโอสถ กล่าวและว่า แต่หากสธ.ยังนิ่งเฉย ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดคงต้องประสานขอความเป็นธรรมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะผู้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข
นางทัศนีย์ บัวคำ
นางทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาขาต่างๆ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หมออนามัย ในแต่ละพื้นที่มีการจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 9,800 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างน้อยประมาณ 6,000-7,000 คน กรณีนี้จึงขอเรียกร้อง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ให้ความสำคัญและยกระดับกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนไม่มากเป็นพกส.ด้วย ส่วนการบรรจุเป็นข้าราชการนั้น ที่ผ่านมายากมาก และมีสัดส่วนน้อย อาจเพราะไม่เห็นความสำคัญเทียบเท่าวิชาชีพอื่นๆ อย่างแพทย์ พยาบาล ทั้งๆ ที่กลุ่มหมออนามัย เป็นกลุ่มที่ทำงานกับชุมชน และควรได้รับการพัฒนามากกว่า
“จริงๆ แล้วกลุ่มหมออนามัยนับเป็นกลุ่มที่เข้าถึงชาวบ้าน และดูแลชาวบ้านมานาน แต่ด้วยที่มีหลากหลายสาขามากถึง 23 สาขา ทั้งเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ป้องกันดูแลความปลอดภัย(จป.) ฯลฯ จากความหลากหลายดังกล่าว อาจทำให้คิดว่าไม่ขาดแคลนมีมากเกินไป และชื่อเรียกที่หลากหลายก็อาจถูกละเลย ทางสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขจึงมีความคิดว่าอาจมีการยกระดับชื่อเป็น นักสาธารณสุข ให้เป็นชื่อกลางในการเรียก เหมือนเรียกแพทย์ พยาบาล นอกจากนี้ ก็จะมีการยกระดับด้วย จะมีใบประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุขให้ด้วย โดยจะให้มีการสอบทุกๆ 5 ปี หลังจากมีเกณฑ์ควบคุม มีใบประกอบวิชาชีพก็จะเสนอกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และเสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า หมออนามัยก็เป็นวิชาชีพหนึ่งควรได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ โดยมีการแบ่งสัดส่วนอย่างเหมาะสม เท่าเทียม” นางทัศนีย์ กล่าว
- 107 views