ประชาชาติธุรกิจ -"ภ.ก.เชิญพร เต็งอำนวย" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธาน กลุ่มยา ส.อ.ท.ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ในโอกาสรับแหน่งใหม่ ซึ่งถูกวางตัวให้งานด้านวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย แต่วงการยา "เชิญพร" ถือเป็นมือเก๋า เคยเป็นประธานกลุ่มยามาแล้ว 2 รอบ และเป็นนายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ด้วย

ภาพรวมอุตสาหกรรมยาไทย

ไทยนำเข้ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่าสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ตลาดยาในประเทศประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เป็นการนำเข้า 1 แสนล้าน สัดส่วน 70% และเป็นยาผลิตในประเทศ 5 หมื่นล้าน หรือสัดส่วน 30%

แต่ในด้านปริมาณจะกลับกัน เพราะยาในประเทศมีน้ำหนัก/จำนวนเม็ดสัดส่วน 70% ยานอกแค่ 30% แต่ยาที่เราผลิตได้นั้นเป็นยาชื่อสามัญ (หมดสิทธิบัตรแล้ว) ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่ายานำเข้าซึ่งเป็นยาต้นแบบมีสิทธิบัตร ส่วนมูลค่าส่งออกยาไทยน้อยมาก เพียง 4,000 ล้านบาทต่อปี ไปตลาดอาเซียนเป็นหลัก

อุตสาหกรรมยาเราถดถอยหรือไม่

ในช่วง 10 ปี การนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากเดิม 50% เป็น 70% จากความต้องการใช้ยามากขึ้น เพราะต่างชาตินิยมเข้ามารับการรักษาในไทยจึงต้องมีการนำเข้ายาและเครื่องมือที่ทันสมัย ด้านปริมาณเราสามารถผลิตยาทดแทนการนำเข้าในปริมาณมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องการใช้ยาและเทคโนโลยีใหม่ที่มีสิทธิบัตรในการคุ้มครอง หากเปรียบเทียบราคายาชื่อสามัญราคาจะต่ำกว่ายาต้นแบบ 10-100 เท่า จากเม็ดละ 50-60 บาท อาจเหลือ 1 บาท ในช่วง 2 ปี หลังหมดสิทธิบัตร เพราะสามารถผลิตแข่งขันกันภายในได้ค่อนข้างสูง

ค้าเสรีทำให้เกิดการผูกขาด

มีโอกาสจะผูกขาด เพราะความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อียู หรือประเทศพัฒนาแล้วมักขอให้ขยาย ความเข้มหรืออายุการคุ้มครองสิทธิบัตรออกไปเกิน 20 ปี ซึ่งกลุ่มภาคประชาชนและสาธารณสุขไม่เห็นด้วย เพราะปกติเราคุ้มครองสิทธิบัตรตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การ การค้าโลก (TRIPs) แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องยืดอายุการคุ้มครอง หากยืดอายุสิทธิบัตรอีก 5 ปี แล้วยาบางอย่าง เช่น ยาต่อต้านเชื้อหรือยาปฏิชีวนะที่เกิดการดื้อยา ทำให้ต้องเสียเงินนำเข้ายาใหม่มูลค่ามหาศาล

แต่อียูเห็นว่ากว่าจะขึ้นทะเบียนยาออกสู่ท้องตลาดใช้เวลา 15 ปี เหลือเวลาแค่ 5 ปี ยังทำตลาดไม่คุ้มก็หมดสิทธิบัตรแล้ว เราไม่เห็นด้วย ต้องดูค่าเฉลี่ยของผู้ผลิตยาทุกประเทศ ทั้งจีน อินเดีย ยุโรป ซึ่งไม่ใช้เวลานานอย่างนี้ทุกตัว

ในช่วงชะลอเอฟทีเอเตรียมตัวอย่างไร

มีการเจรจาในระดับปฏิบัติการ แต่แยกเป็นหัวข้อย่อย ๆ ซึ่งมองเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ดูภาพรวมว่าไทยต้องการอะไร เกิดความไม่สอดคล้องกัน ที่ผ่านมาทาง ส.อ.ท.เคยจัดเวทีใหญ่คุยเรื่องนี้แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนผลกระทบจากการยืดอายุสิทธิบัตรเป็นเพียงการคาดการณ์ ทั้งที่ควรศึกษาให้ชัดเจนว่าเสียหายเท่าไร เราเคยมีประสบการณ์ยอมออกกฎหมายสิทธิบัตรตามที่สหรัฐขอแลกกับการต่อสิทธิ จีเอสพีเพียงไม่กี่ปี แต่ต้องรับผลของ กฎหมายสิทธิบัตรนั้นมาโดยตลอด กลุ่มจะร่วมกับสำนักงาน สกว.ศึกษาเรื่องนี้ใช้เป็นข้อมูลทำ FTA กับประเทศอื่นด้วย ระบบสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่ดีสำหรับ ผู้มีศักยภาพ แต่ผู้ที่ด้อยกว่าและไม่พัฒนาจะเป็นอันตรายมาก เพราะจะกลายเป็น ผู้ซื้ออย่างเดียว ไทยก็มีโอกาสเป็น อย่างนั้น ถ้าไม่ปรับปรุง

บทบาทของกลุ่มยา ส.อ.ท.

ทางกลุ่มก็เตรียมยกระดับสถาบันวิจัยและพัฒนาของ ส.อ.ท.เป็นสถาบันวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม เน้นเพิ่มนวัตกรรมใหม่ นอกจากนี้เสนอ ไอเดียกับเลขาฯสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขอให้แจกงานวิจัย ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรม เพราะ SMEs ไม่มีงบประมาณในการวิจัยและไม่สามารถซื้องานวิจัยได้ หากนำมากระจายให้กลุ่มสมาคมหรือกลุ่มอุตสาหกรรม โดยภาครัฐจ่ายเงินสนับสนุนค่างานวิจัยให้กับ วช. จะมีการใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแพร่หลาย และที่สำคัญควรมีส่วนที่จะทำหน้าที่ติดตามผลงานที่ถ่ายทอดไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่มีการซื้อผลงานวิจัยไปทิ้ง ตัดวงจรการแข่งขันกับธุรกิจตัวเอง

นโยบายการรวม 3 กองทุนสุขภาพ

การรวมกองทุนสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท) ประกันสังคม กับเงินรักษาข้าราชการรวมกันหมด แสดงว่ารัฐบาลไม่มีเงินแล้วใช่ไหม ระบบนี้ประชาชนได้ประโยชน์แต่เรารองรับค่าใช้จ่ายได้แค่ไหน ขนาดประเทศรวยยังหนี เพราะความต้องการยาจะขยายไปครอบคลุมยาที่มีสิทธิบัตรและราคาแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีระบบควบคุม หรือทำความเข้าใจให้ดี ผู้ป่วยอาจรู้สึก ไม่เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่า 3 กองทุนใช้เงินเยอะพอกัน แต่ประกันสังคมเอกชนจ่ายร่วมกับรัฐ อาจมีปัญหาในอนาคต เพราะคนเกษียณมากขึ้นตาม Aging Group ในไทย ส่วนนี้จะบานเป็นตัวที่อันตราย ส่วนจ่ายตรงข้าราชการถึงเป็นสวัสดิการ แต่ควรควบคุมการใช้จ่ายให้เหมาะสมด้วย

รัฐบาลใหม่ควรปรับระบบกองทุนอย่างไร

ไทยยังไม่มีการวางแผนการผลิต หรือให้ข้อมูลการวางแผนใช้ยาในแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม ทั้งกับผู้ป่วยและกับผู้ประกอบการภายในประเทศ เพราะการพิจารณาบัญชียาถูกแยกส่วน เช่น พิจารณาเฉพาะยาที่มีสิทธิบัตร แต่ไม่ได้เชื่อมโยงว่ายาบางชนิดผลิตในประเทศได้ ประสิทธิภาพการรักษาเท่ากัน เมื่อ ตรวจสอบไม่ได้ 100% ว่าหมดสิทธิบัตรหรือยัง จึงไม่มีใครเสี่ยงผลิต เพราะอาจจะโดนเจ้าของสิทธิบัตรฟ้องได้ แต่หากเราตรวจสอบลิงก์กันได้ สามารถวางแผนการผลิตยาทันกับความต้องการของประเทศ ลดภาระงบประมาณนำเข้าได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 - 28 พ.ค. 2557