สธ.ยืนยันบทบาทอภ.ชัดเจน-ควบคุมราคายา ที่เหมาะสมสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันเสนอ อภ.ปรับบทบาท ชี้เหตุผูกขาดขายยาภาครัฐทั้งผลิต-นำเข้า ส่งผลกระทบบริษัทผลิตยาในประเทศไม่พัฒนาคุณภาพ-โตช้า ไม่กล้าลงทุน หวั่น อภ.ขายตัดราคา ด้าน รมว.สธ.แจงบทบาท อภ.ชัดเจน สร้างความมั่นคงด้านยา ควบคุมราคายาให้เหมาะสม ยืนยันไม่ได้ผูกขาด เหตุระเบียบพัสดุ ก.คลังเปิดทางเอกชนร่วมประมูลใช้ยาราคาถูก ห่วงยานอกไหลเข้า
ตรวจสอบบทบาทหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.)หลังความขัดแย้งในการบริหารและสหภาพองค์การเภสัชกรรมเกรงว่าจะถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจจนกระทบการผลิตยาราคาถูกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น
เภสัชกร(ภก.)เชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เปิดเผยว่า ปัจจุบันบทบาทองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ทำหน้าที่คล้ายกับภาคเอกชนผู้ผลิตยาในประเทศ เพียงแต่วัตถุประสงค์มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยในอดีตก่อตั้งเพื่อผลิตยาในประเทศและทำหน้าที่ควบคุมราคายานำเข้าจากต่างประเทศให้เหมาะสม ไม่สูงเกินไป ซึ่งเมื่อก่อนโรงงานผลิตยาในประเทศมีไม่มาก อภ.จึงเป็นหน่วยงานสร้างสมดุลทั้งในด้านคุณภาพและราคายา แต่ปัจจุบันเรามีภาคเอกชนผู้ผลิตยาในประเทศถึง 160 แห่ง แต่กลับขาดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเพื่อก้าวเข้าสู่ระดับสากล
สาเหตุหลักมาจากการขาดการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากติดปัญหาที่ว่า เมื่อเอกชนผลิตยาใหม่ที่หมดสิทธิบัตรออกมาขายในท้องตลาด หาก อภ.ผลิตออกมาขายบ้างจะทำให้เกิดปัญหาไม่คุ้มทุน เนื่องจาก อภ.เป็นหน่วยงานที่ผูกขาดตลาดยาและได้สิทธิพิเศษจากระเบียบราชพัสดุข้อ 61 และ 62 ที่กำหนดให้สถานพยาบาลภาครัฐต้องซื้อยาจาก อภ.ร้อยละ 80 ส่งผลให้เอกชนไม่กล้าลงทุน จึงทำให้การวิจัยและพัฒนามาตรฐานการผลิตยาบ้านเราเป็นไปได้ช้า ประกอบกับเมื่อมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ใช้ยามากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ อภ.กลายเป็นหน่วยงานที่ผูกขาดตลาดยาในประเทศ ขณะที่การแข่งขันของเอกชนที่ผลิตยาในประเทศจึงค่อนข้างสูง
"ที่ผ่านมาบริษัทยามีการขายยาในสถานพยาบาลภาครัฐบ้าง อย่าง โรงเรียนแพทย์ โดยผ่านวิธีการประมูล หรือยาที่ อภ.ไม่สามารถจัดส่งได้ทัน ถือว่ามีสัดส่วนไม่มาก อีกทั้งที่ผ่านมาทิศทางการพัฒนาของ อภ.มุ่งไปทุกทิศทาง ผลิตจำหน่ายตั้งแต่ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัคซีน และสมุนไพร เพื่อสนับสนุนสถานพยาบาลหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ อภ.กลายเป็นหน่วยงานที่ผูกขาด"
ภก.เชิญพร กล่าวอีกว่า ส่วนที่มองว่าสาเหตุที่สถานพยาบาลภาครัฐซื้อยาจาก อภ.ด้วยราคาที่ถูกและประหยัดกว่าคงไม่ใช่ เพราะการจัดซื้อยาจากภาคเอกชนเป็นการซื้อวิธีประมูล ทำให้มีการแข่งขันสูง ราคายาที่ได้จึงถูกกว่าจัดซื้อจาก อภ. "หากถามตัวเลขมูลค่ายาที่บริษัทเอกชนในประเทศขายให้กับสถานพยาบาลภาครัฐ คงบอกได้ยาก แต่เมื่อดูมูลค่ายาทั้งประเทศแสนล้านที่รวมถึงยานำเข้า ยอมรับว่ามูลค่าการขายยาขององค์การเภสัชกรรมถือว่าน้อยมาก แต่หากเปรียบเทียบกับมูลค่าการจำหน่ายยาผลิตในประเทศ โดยเปรียบเทียบกับบริษัทยาในประเทศ 160 แห่ง ถือว่าองค์การเภสัชกรรมมีสัดส่วนการผลิตยาและขายที่สูงมาก ทุกวันนี้องค์การเภสัชกรรมจึงเป็นหน่วยงานที่ทำการแข่งขันกับบริษัทยาในประเทศเอง"
ชี้ อภ.ตัดราคาผู้ผลิตในประเทศ
ภก.เชิงพร กล่าวต่อว่า ส่วนการนำเข้ายาของ อภ. เมื่อดูรายละเอียดเห็นได้ว่า ล้วนแต่เป็นการนำเข้ายาสามัญหมดสิทธิบัตรที่ในประเทศยังไม่มีบริษัทยาใดผลิตได้ ตรงนี้แม้ว่าราคายาที่ อภ.นำเข้าจะถูกกว่ายาต้นแบบร้อยละ 50% แต่ยาสามัญใหม่กลุ่มนี้จะไปทดแทนยาสามัญตัวเก่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เท่ากับเป็นการฆ่ายาสามัญที่ผลิตในประเทศ หากเป็นเช่นนี้ระยะยาวไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งที่เราควรทำคือการเร่งผลิตยาใหม่หมดสิทธิบัตรเพื่อทดแทนการนำเข้าให้เร็วที่สุด ไม่ใช่นำเข้า ไม่เช่นนั้นจะทำให้อุตสาหกรรมประเทศไม่เติบโต สวนทางกับนโยบายประเทศที่ต้องการทำให้เราสามารถพึ่งพายาในประเทศได้
ระเบียบพัสดุนี้ใช้มา 20 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเราพยายามเสนอแก้ไขแต่ไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งที่ ครม.ได้มีมติไปแล้ว และค้างอยู่ที่กฤษฎีกานานแล้ว จนขณะนี้ใกล้เปิดการค้าเสรี ซึ่งเชื่อว่าจะมียาจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศไทย ทั้งนี้ การมี อภ.เหมือนกับเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ แต่ในความเป็นจริงกลับตรงข้าม ยิ่ง อภ.ผลิตยาใหม่เพิ่มออกมาเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศให้ตายเร็วขึ้น จากการผูกขาดขายยาให้หน่วยงานรัฐที่ไม่เป็นธรรมต่อภาคเอกชนและยังถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงานแสวงหากำไรเข้าภาครัฐ
"ที่เป็นข่าวฮือฮา คือ การผลิตยาแก้เสื่อมสมรรถภาพของ อภ.ซึ่งก่อนหน้านี้มีบริษัทผลิตยาในประเทศสามารถผลิตได้และตั้งราคาขายถูกกว่ายาต้นแบบ 30-40% แต่เมื่อองค์การเภสัชกรรมผลิตได้ กลับขายตัดราคาบริษัทยาดังกล่าว ซ้ำยังมีการโปรโมตทั้งที่ยานี้เป็นยาไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต"
สธ.ยันอภ.ไม่ได้ผูกขาดตลาด ด้านนายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ภาคเอกชนมีความสงสัยบทบาท อภ.จะเข้ามาเป็นผู้เล่นแย่งตลาดยากับภาคเอกชนหรือไม่ ทำให้เกิดความอ่อนแอต่อภาคเอกชน ทั้งนี้การผลิตยาเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะดำเนินการได้คนเดียว และที่ผ่านภาครัฐได้กำหนดบทบาท อภ.ชัดเจน คือต้องเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงด้านยาของประเทศ โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นยุทธศาสตร์ อย่างเช่น น้ำเกลือ ยาปฏิชีวนะจำเป็น อีกทั้งยังต้องสร้างความสมดุลในระบบเพื่อให้เกิดการกำหนดราคายาที่เหมาะสม
ส่วนกรณีของการเสนอแก้ไขระเบียบพัสดุ กระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้โรงพยาบาลรัฐต้องซื้อยาจาก อภ.นั้น นพ.ประดิษฐ์ ชี้แจงว่า ระเบียบนี้ชัดเจนว่า เปิดทางให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยาราคาถูกที่สุด ไม่จำกัดจัดซื้อแต่กับ อภ.เท่านั้น แต่สิ่งที่กังวลคือ อาจเป็นการเปิดทางให้ยานอกเข้ามาแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะยาจากประเทศจีนหรืออินเดียที่มีฐานต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก เพราะการผลิตเฉพาะประชากรในประเทศก็นับพันล้านคนแล้ว
ขณะที่บริษัทยาไทยผลิตขายให้ประชากรแค่ 60 ล้านคน หากรวมกับอาเซียน อย่างมากก็แค่ 200 ล้านคน หากปล่อยไว้แบบนี้จะทำให้ธุรกิจผลิตยาในประเทศตายหมด ตรงนี้จึงต้องสร้างสมดุลระบบยาในประเทศให้ได้
ห่วงประมูลยาราคาถูกกระทบการพัฒนา
เรื่องนี้ได้มอบการบ้านให้ อภ.ไปคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อทำให้ธุรกิจผลิตยาของภาคเอกชนไทยอยู่รอดได้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านยาให้กับประเทศ ซึ่งตนเองกำลังกังวลว่า การที่เราใช้ราคายาเป็นหลักเกณฑ์พิจารณาจัดซื้อยาเข้าโรงพยาบาล อาจทำให้การผลิตยาในประเทศเจ๊งหมด สุดท้ายไทยต้องนำเข้ายาจากจีนและอินเดีย
"ภาคเอกชนมักบ่นว่า อภ.ขายยาทั้งหมดแล้วเอกชนจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่ห่วงเพราะ อภ.ไม่สามารถผลิตยาทั้งหมดเองได้ ทำให้โรงพยาบาลยังคงต้องสั่งซื้อยาจากภาคเอกชนอยู่ แต่ที่ห่วงคือตราบใดที่การจัดซื้อยังยึดที่ราคายาที่ต้องถูกที่สุด จะกลายเป็นการขวางพัฒนายาในประเทศ จะไม่มีบริษัทยาใดมาลงทุนผลิต โดยเฉพาะกลุ่มยาราคาแพง" รมว.สาธารณสุข กล่าว
ชี้ อภ.สละสิทธิ์พิเศษมา 5-6ปี
ขณะที่ ภญ.พิสมร กลิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ชี้แจงว่า อภ.เป็นหน่วย
งานที่มีภารกิจหลักชัดเจน คือ การผลิตยาเพื่อสนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมีการผลิตยากว่าพันรายการ เน้นการผลิตยาสามัญเพื่อทดแทนยานำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เข้าถึงยาและลดค่าใช้จ่ายของงบประมาณ ดังนั้นยาที่ อภ.ผลิตจึงอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลัก ส่วนกรณีที่บริษัทผลิตยาในประเทศมองว่า อภ.ได้เปรียบในการแข่งขันการตลาด เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทั้งจากระเบียบราชพัสดุ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุให้หน่วยงานภาครัฐต้องพิจารณาซื้อยาจาก อภ.เป็นหลัก และพ.ร.บ.ยา 2510 กำหนดให้ อภ.สภากาชาดไทย และโรงงานเภสัชกรรมทหาร สามารถผลิตยาโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน ซึ่งที่ผ่าน อภ.เป็นหน่วยงานเดียวที่ถูกโจมตี เพราะเรามีภารกิจผลิตยาในเข้าสู่ระบบ
แม้ว่า อภ.จะได้รับสิทธิพิเศษนี้ แต่ในความเป็นจริงเราได้ทำการสละสิทธิ์เหล่านี้มา 5-6 ปีแล้ว โดยทุกครั้งที่จะมีการนำยาออกจำหน่ายจะมีการขอใบอนุญาตและขึ้นทะเบียนก่อนทุกครั้งเพื่อลดปัญหาตรงนี้ แต่ทั้งนี้หากพูดถึงสิทธิ์ต้องพูดถึงหน้าที่ด้วย เพราะมีงานซึ่งเป็นหน้าที่ของ อภ.หลายอย่างที่ภาคเอกชนไม่สนใจทำ
ภญ.พิสมร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อภ.ไม่ได้เน้นแต่การนำเข้ายาเพื่อมาจำหน่าย แต่มีสถาบันวิจัยและพัฒนายาเพื่อมุ่งลดการนำเข้าจากต่างประเทศ มีการกำหนดเป้าหมายในการวิจัยยาอย่างน้อยปีละ 20 รายการ ซึ่งในการวิจัยยานั้นต้องใช้เวลานาน ดังนั้นในระหว่างการวิจัยจึงต้องมีการดำเนินการมาตรการควบคู่เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยา จึงต้องมีการนำเข้ายา เพราะหากปล่อยให้มีแต่ยาต้นแบบในประเทศ ผู้ป่วยก็จะเข้าไม่ถึงการรักษาได้เพราะด้วยราคายาที่แพง และเรื่องนี้ยังเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกรณีการผลิตยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศที่ อภ.ต้องผลิตยานี้ เพราะราคายาต้นแบบมีราคาที่สูงมาก ทำให้มีการระบาดของยาปลอม ดังนั้นจึงต้องมีการผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา หากดูมูลค่ายาของประเทศจะอยู่ที่แสนล้านต่อปี ซึ่งยอดจำหน่ายยา อภ.อยู่ที่ 8 พันล้านบาท ไม่ถึง 10% ของมูลค่าทางการตลาด ที่เหลือเป็นสัดส่วนของภาคเอกชนทั้งหมด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 กรกฎาคม 2556
- 44 views