ปัญหาการใช้ยายังคงมีอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย กพย.จึงได้รวบรวมกรณีตัวอย่างผลกระทบจากการใช้ยาต่างๆ โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เภสัชกรประจำโรงพยาบาลทุกระดับในการรวบรวมเคส เพื่อจัดทำเป็นหนังสือเรื่องเล่าทุกข์จากยา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขณะเดียวกันก็จะเสนออย. เพื่อนำไปพิจารณาหาทางป้องกันปัญหา รวมทั้งหาทางแก้ไข ปัญหาส่วนใหญ่คือ มีการใช้ยาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ แต่กลับพบการจำหน่ายยากลุ่มนี้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และไม่มีเภสัชกรประจำร้าน
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ปัญหาการใช้ยายังคงมีอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย กพย.จึงได้รวบรวมกรณีตัวอย่างผลกระทบจากการใช้ยาต่างๆ โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เภสัชกรประจำโรงพยาบาลทุกระดับในการรวบรวมเคส เพื่อจัดทำเป็นหนังสือเรื่องเล่าทุกข์จากยา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขณะเดียวกันก็จะเสนอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อนำไปพิจารณาหาทางป้องกันปัญหา รวมทั้งหาทางแก้ไข ทั้งนี้ ปัญหาส่วนใหญ่คือ มีการใช้ยาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ และเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา แต่ในความเป็นจริงอย่างในพื้นที่ต่างจังหวัด กลับพบการจำหน่ายยากลุ่มนี้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และไม่มีเภสัชกรประจำร้านด้วยซ้ำ
“ปัญหาคือ ประเทศไทยมีกฎหมายบังคับใช้ แต่ในทางปฏิบัติกลับทำไม่ได้จริง ซ้ำร้ายในบางพื้นที่ยังพบมีการลักลอบขายยากลุ่มสเตียรอยด์ในร้านขายของชำอีก ซึ่งถือว่าผิดชัดเจน แต่พอไปตรวจสอบก็ไม่พบ ตรงนี้เป็นปัญหาต้องมีการล่อซื้ออีก จึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตื่นตัว ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายต่างๆ แต่กลับใช้ไม่ได้จริง สิ่งสำคัญ อย.จะต้องมีการตรวจสอบการกระจายยาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อมีการผลิตยาสเตียรอยด์ออกมา ต้องตรวจสอบว่าจ่ายไปที่แหล่งใด และจ่ายไปให้ใครมีใบสั่งแพทย์หรือไม่ ต้องทำเป็นสถิติออกมา เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันการผลิตยาสเตียรอดย์ไม่ได้ผิดกฎหมาย และยากลุ่มนี้มีประโยชน์ในการรักษาโดยแพทย์ แต่กลับมีการนำสารสเตียรอดย์ไปผสมกับอาหารเสริม หรือสมุนไพรต่างๆ อวดอ้างสรรพคุณ เมื่อผู้ป่วยใช้ไปนานๆก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น อย.ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
ผู้จัดการกพย. กล่าวอีกว่า ยาสเตียรอยด์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ทราบกันดีว่าหากรับประทานโดยไม่ได้รับการควบคุมย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย กระดูกบางลง แผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ แต่ก็ยังพบลักลอบผสมอาหารเสริมจำนวนมาก และในยาสมุนไพรทั้งยาน้ำ ยาลูกกลอนมีหมด โดยอ้างว่าสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้ ทั้งปวดเมื่อย ปวดหัวเรื้อรัง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทั้งหมดล้วนผสมสารสเตียรอยด์ นอกจากนี้ ในพื้นที่ชุมชนยังพบการจำหน่ายยาชุดอยู่ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนนี้ กพย.จะมีการแถลงข่าวจัดกิจกรรมรณรงค์เตือนภัยยาสเตียรอยด์ เพื่อให้เห็นถึงพิษภัยของสารดังกล่าว
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย รพ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ปัญหายาชุดยังคงพบเห็นในชุมชนต่างๆ แม้ทางกลุ่มเภสัชกรจะร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงอันตรายของยาชุด การทานยาสเตียรอยด์จะส่งผลอย่างไร ซึ่งช่วงแรกได้รับการตอบรับดี ผู้ป่วยเชื่อ แต่กลับพบว่าเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากพอกลุ่มนี้เลิกทานยาชุด ยาสเตียรอยด์ และหันไปทานยาแผนปัจจุบันกับแพทย์ กลับรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม จึงหันไปพึ่งยาชุดอีก เพราะเข้าใจว่ายามีประสิทธิภาพ รักษาให้หายรวดเร็ว ทั้งๆที่ความจริงอาการที่ดีขึ้นรวดเร็วมาจากการกดของสารสเตียรอยด์ และพอทานไปนานๆก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย
ภญ.สุภาวดี กล่าวอีกว่า ปัญหาคือ ที่ผ่านมาชาวบ้านหาซื้อยาชุด ยาสเตียรอยด์ง่ายมาก ยิ่งในช่วงเก็บเกี่ยว ช่วงทำนา จะมีการขายยาชุดเยอะมาก ทั้งๆที่ยาชุดเป็นยาห้ามจำหน่าย ถือว่าผิดกฎหมาย โดยยาชุดเหล่านี้จะประกอบด้วยยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และจะมียาสเตียรอยด์ด้วย ซึ่งชาวบ้านเมื่อซื้อไปทานจะรู้สึกว่าอาการปวดเมื่อยหายเร็วขึ้น จึงกลายเป็นพฤติกรรมความเคยชินที่ต้องทานยากลุ่มนี้ จริงๆ อยากให้อย.ควบคุมห้ามขายยาสเตียรอยด์ในร้านขายยา แต่ให้มีได้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากเมื่อมีการขายในร้านขายยา แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์ สุดท้ายก็ควบคุมยาก ทางที่ดีที่สุดไม่ต้องขายในร้านขายยาดีกว่า
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีกรณีคุณยายยืนขายส้มตำนานๆก็ปวดเอว และหันไปกินยาชุด ที่คนอีสานเรียกว่า ยาประดง โดยกินที 10 ชุด เป็นเงิน 60 บาท กินติดต่อกันตั้งแต่ปี 2554 คืนละ 1 เม็ด ก็รู้สึกว่าอาการปวดหายดี ซึ่งเภสัชกรก็แนะนำว่าอันตรายอย่างไร เพราะเป็นสเตียรอยด์ คุณยายก็ไปพบแพทย์ และแพทย์ทำการตรวจและสั่งยาให้ ซึ่งมียาสเตียรอยด์ด้วย แต่ในปริมาณที่เหมาะสมและควบคุมโดยแพทย์ เนื่องจากไม่สามารถให้เลิกได้ทันที จะเป็นอันตราย แต่เพราะใช้ยามาเป็นเวลานานกระทั่งเดือนมิถุนายน 2556 คุณยายประสบอุบัติเหตุมีแผลถลอกที่ขาเพียงเล็กน้อย ทำให้ไม่มารักษาที่โรงพยาบาล แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นแผลกลับบวม แดงขึ้น จนต้องเข้ารพ.เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องทำการรักษาทันที นี่คือตัวอย่างว่าการใช้สเตียรอยด์ในขนาดสูงและนาน ระยะเวลานานก็ไปกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราได้ง่าย ยังทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและแขน เป็นต้น
ขณะที่ภญ.กุสุมาลย์ บรรเทา รพ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากที่พบปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการหลงเชื่อพวกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างโคโรฟิลล์ รวมไปถึงยาน้ำแผนโบราณ อย่างโคโรฟิลล์มีการอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาเบาหวาน มะเร็ง บ้างก็เอาไปใช้หยอดตา รักษาตาฝ้าฟาง ซึ่งอันตรายมาก อย่างเคสผู้ป่วยโรคหัวใจ เชื่อว่าจะลดน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยก็ไปซื้อรับประทาน และเลิกกินยาแผนปัจจุบัน ปรากฎว่าเดิมไม่เคยกินยาอมใต้ลิ้นฉุกเฉิน ซึ่งเป็นยาเสริมกรณีอาการกำเริบมาก จากเดิมไม่เคยกิน แต่พอเลิกยาแผนปัจจุบันทำให้ต้องหันมาทานยาอมใต้ลิ้นฉุกเฉิน เนื่องจากเจ็บหน้าอก จึงจำเป็นต้องหยุดทานผลิตภัณฑ์โคโรฟิลล์ทันที นอกจากนี้ ก็ยังมีพวกยาสเตียรอยด์ซึ่งเป็นปัญหาตลอด ขนาดมีกฎหมายควบคุมก็ยังมีการลักลอบ คนที่ทานยาสเตียรอยด์ ส่นวใหญ่จะมีอาการแพ้ เช่น หน้าบวม ตาบวม หากรุนแรงก็จะทำลายกระดูก ปวดกระเพาะอาหาร บ้างแขนขาเหมือนมีรอยไหม้ เป็นผื่นขึ้น
- 251 views