“โอสถ” ฉุน ยื่นเรื่องขอแก้สัดส่วนคณะกรรมการจัดทำร่างการตั้งและระเบียบข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พกส. ให้มีฝ่ายบริหาร และ พกส. อย่างละครึ่ง หลังการคัดเลือกล่าสุด มีสัดส่วนพกส.แค่คนเดียว ชี้ไม่เป็นธรรม ทำให้คณะกรรมการไม่สมดุล ไม่สามารถเสนอเพื่อประโยชน์พกส.ได้ ย้ำพกส.ไม่ใช่ตรายาง พร้อมเผย รวมกลุ่มพกส.ทุกวิชาชีพ ทั้งสายสนับสนุน และสายวิชาชีพ เรียกร้องสวัสดิการ ค่าตอบแทนให้เป็นไปตามที่รับปากอย่างจริงจังหลังได้รัฐบาลใหม่ แจงทวงถามคำตอบจากสธ. เหตุได้ค่าตอบแทนไม่ตรงเพราะเงินอาจหมดใน 5 ปี 

นายโอสถ สุวรรณเศวต

ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการชั่วคราวจัดทำร่างการตั้งและระเบียบข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการจัดทำร่างการตั้งและระเบียบข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พกส.ชุดจริงเรียบร้อยแล้ว โดย นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสสท.) ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าว และเปิดเผยว่า มีความเห็นว่าการคัดเลือกมีความไม่เป็นธรรม เพราะให้ผู้ลงคะแนนเปิดเผย ชื่อและสังกัดระหว่างลงคะแนนคัดเลือกด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ถือว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือสัดส่วนของผู้ที่เข้าไปเป็นกรรมการทั้ง 17 คนนั้น มีผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้างเพียงคนเดียวก็คือตนเท่านั้น ที่เหลือเป็นฝ่ายบริหารทั้งหมด ตรงนี้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการออกระเบียบ กติกาต่างๆ ตามมา เพราะฝ่ายลูกจ้างมีเพียง 1 เสียงไม่สามารถเสนอหรือคัดค้านอะไรได้

“ที่ผ่านมาหากมีความเห็นคัดค้านอะไรไป ทางคณะกรรมการก็ไม่ได้หักด้ามพร้าด้วยเข่าเสียทีเดียว แต่ให้ไปตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งอนุกรรมการนั้นก็มีแต่ฝ่ายบริหารทั้งนั้น ไม่มีฝ่ายลูกจ้างเลย พอเอาอะไรมาเสนอก็กลายเป็นผ่านหมด แล้วอย่างนี้เสียงของลูกจ้างจะมีความหมายอะไร ผมก็เหมือนเป็นตรายางให้เขาพูดได้ว่าผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่มีตัวแทนฝ่ายลูกจ้างรวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงขอให้มีการแก้ไขสัดส่วนตรงนี้ให้เท่าๆ กัน” นายโอสถ กล่าว

นอกจากนี้ นายโอสถ ยังได้กล่าวถึงเรื่องค่าตอบแทนของ พกส. ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยออกมาระบุตัวเลขขั้นต่ำเอาไว้ว่าในส่วนของสายสนับสนุนจะได้อยู่ที่ 7,590 บาท ส่วนฝ่ายวิชาชีพ เช่น พยาบาลจะอยู่ที่ 18,000 บาท และลดหลั่นกันไปตามแต่ละระยะเวลาการทำงานและสายงานนั้น ในทางปฏิบัติไม่มีใครได้จริงตามนั้น โดยในส่วนของสายสนับสนุนจะได้รับอยู่ที่ 6,510 บาท จากปัญหาดังกล่าวตนได้ทวงถามไปยังฝ่ายบริหารเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถให้ค่าตอบแทนในอัตรานั้นได้ เพราะขณะนี้รัฐไม่ได้สนับสนุนงบให้ตามที่รับปาก หากจ่ายให้ตามอัตราที่กล่าวเอาไว้นั้นภายใน 5 ปี เงินก้อนนี้หมดลง ส่วนตัวเห็นว่ากระทวงสาธารณสุขไม่ควรอ้างเรื่องเงินหมด เพราะในระยะเวลา 5 ปีนั้น เป็นหน้าที่ที่ผู้บริหารกระทรวงจะต้องชี้แจงกับฝ่ายบริหารบ้านเมืองถึงความจำเป็นในเรื่องเหล่านี้

“ค่าตอบแทนเหมือนเดิม เพราะเขาไม่ปฏิบัติอะไรเลย เราเรียกร้องให้ตายก็ไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่ยินดีจะจ่ายแต่ไม่มีคำสั่งมาจากกระทรวง กระทรวงก็บอกว่าจ่ายไม่ได้เพราะรัฐไม่ได้อุดหนุนตามที่ตกลงกันไว้ แต่รัฐมนตรีบอกว่าดำเนินการไม่ได้เพราะเป็นเพียงรักษาการรอให้มีรัฐมนตรีที่มีตัวตนจริงๆ ก่อน ดังนั้นเราจึงยอมรอให้มีรัฐบาลจริงๆ เสียก่อน” รองประธาน สสสท.กล่าว

นายโอสถ กล่าวต่อว่า จากนี้ต่อไปพกส.ทังหมด ทั้งสายวิชาชีพ และสายสนับสนุนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ในนามของเครือข่ายผู้ทำงานภาครัฐ โดยมีตนเป็นผู้ประสานงานหลัก เบื้องต้นสิ่งที่เราจะทำคือยื่นข้อเสนอให้มีการแก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการจากฝั่งผู้บริหาร และฝั่ง พกส. อย่างละครึ่ง ซึ่งขณะนี้ก็ได้ยื่นไปแล้ว แต่เนื่องจากการเมืองยังไม่นิ่ง ซึ่งสามารถรับฟังได้ ถ้านิ่งเมื่อไหร่เราจะขยับกันอีกครั้ง อาจจะมีตัวแทนประมาณ 50 คนไปพบผู้ใหญ่เพื่อทวงถามสัญญา แต่หากกระทรวงสาธารณสุขยังนิ่ง ยังเงียบจะต้องมีการยกระดับการเรียกร้องต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยาบาลพกส.รพ.ลำปางประท้วง เหตุได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่กำหนด