สธ.เน้นย้ำนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด ขณะที่ปลัด สธ.เผยหลังหารือ กอ.รส. เตรียมยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยโรงพยาบาล ระบุนำแผนฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนใต้มาใช้ จ่อส่งให้ทุกโรงพยาบาลดำเนินการ
เมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงส่วนกลางประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศ รองอธิบดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เพื่อชี้แจงแนวทางในการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ภายหลังที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ วันนี้
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเสี่ยงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะต้องเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด โดยให้ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด ซึ่งประจำการที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด สำรองเตียง คลังเลือด ห้องผ่าตัด และเตรียมหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมปฏิบัติการร่วมกับหน่วยแพทย์ทหารเสนารักษ์ทันทีที่ได้รับการประสาน เพื่อดูแลผู้เจ็บป่วยทุกคนอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน อย่างเต็มที่และมีความปลอดภัยที่สุด ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามประเมินสถานการณ์ และบัญชาการการดูแลประชาชนหากเกินศักยภาพของจังหวัด
ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ ประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ได้วางแผนความพร้อมรองรับเหตุการณ์รุนแรงไว้ 3 ระดับ คือเล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรงมาก เพื่อให้ทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินระดับสูง สามารถปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ ร่วมกับหน่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐาน เช่นจากมูลนิธิร่วมกตัญญูและป่อเต๊กตึ๊ง ซึ่งมีประมาณ 60 ทีม ขณะนี้ได้แบ่งพื้นที่การทำงานร่วมกับกทม. และแพทย์ทหาร และกำหนดจุดรวมทีมแพทย์กู้ชีพในการปฏิบัติการที่โรงพยาบาลสงฆ์ และให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เตรียมสำรองเตียง เวชภัณฑ์ เลือด และห้องไอซียู โดยประสานการทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณ กทม. โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลเอกชน และกองอำนวยการรักษาความสงบ หรือกอ.รส. โดยการกำหนดจุดต่างๆ ในการรับส่งต่อผู้ป่วยหรือบาดเจ็บตามแผนปฏิบัติการร่วม
สำหรับ การดูแลที่จุดชุมนุมที่ถนนอักษะ จ.นครปฐม ได้ปรับแผน โดยย้ายศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าไปประจำการที่ รพ.พุทธมณฑล ติดตามประเมินสถานการณ์ทุกวันและเตรียมทีมแพทย์กู้ชีพระดับสูงวันละ 8 ทีม ปฏิบัติงานร่วมกับมูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิเอกชนในพื้นที่ และให้โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม เป็นศูนย์กลาง รับการส่งต่อผู้เจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556-20 พฤษภาคม 2557 มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 807 ราย เสียชีวิต 25 ราย และยังรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 11 ราย ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บรายใหม่เพิ่มเติม
เวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นพ.ณรงค์ กล่าวภายหลังเดินทางไปร่วมประชุมกับกองอำนวยการรักษาความสงบ (กอ.รส.) ซึ่งมีคำสั่งฉบับที่ 4 เชิญหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ประชุม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ ผอ.รส.เป็นประธาน ว่า สิ่งที่ประมวลได้จากการประชุมในครั้งนี้คือ สธ.จะต้องดำเนินการ 2 ส่วนคือ 1.การดูแลประชาชน เพราะแม้ทหาร และตำรวจจะยืนยันว่าไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น แต่ก็มีข่าวออกมาตลอดว่ามีการขนอาวุธเข้ามา จึงต้องมีการเตรียมพร้อมโดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเสี่ยง โดยขณะนี้จะใช้มาตรการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินเช่นเดียวกับมาตรการที่โรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ โดยจะนำมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์แล้วทำเป็นหนังสือส่งไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อให้ดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือ และ 2.ท่าทีของข้าราชการว่าจะมีทีท่าอย่างไร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้
ขอบคุณภาพจาก Facebook ประชาคมสาธารณสุขเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
- 5 views