มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยปัญหา “กองทุนฉุกเฉิน” พบผู้ป่วยถูกเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่ม หลักหมื่นถึงหลักล้านบาท เหตุ รพ.เอกชน ไม่ยอมรับอัตราค่ารักษาราคากลาง แถมบางรายชี้ไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน เรียกร้องหน่วยงานเกี่ยวข้องหามาตรการควบคุม ระบุกรณีฉุกเฉินไม่ควรทำกำไร เหตุผู้ป่วยไร้อำนาจต่อรอง ขณะที่ข้อมูล สปสช. ชี้ ปี 56 มีผู้รับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน 3.6 หมื่นราย รพ.เอกชนร่วมบริการ 246 แห่ง จาก 353 แห่ง เบิกจ่าย 497 ล้านบาท ระบุ 5 รพ.อันดับแรกเบิกจ่ายมากที่สุด รพ.ธนบุรี รพ.รามคำแหง รพ.วิชัยยุทธ์ รพ.นครธน และ รพ.วิภาวดี
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากจำนวนผู้ร้องเรียนเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปัญหาการเข้ารับบริการยังสถานพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน เป็นปัญหาหนึ่งที่มีประชาชนขอเข้ารับการช่วยเหลือจำนวนมาก โดยเฉพาะการเข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน ภายใต้นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามถึงสิทธิ์ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น" ที่ได้มีการบูรณาการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเริ่มต้นใน 3 กองทุนรักษาพยาบาลหลัก คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ และผลักดันเป็นนโยบายรัฐบาล โดยประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการ แต่จนถึงปัจจุบันหลังการดำเนินนโยบายมากว่า 2 ปี พบว่ายังคงมีปัญหาการเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ปัญหาหลักที่พบคือการที่ผู้ป่วยและญาติถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมในการเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งสามารถแยกเป็น 2 กรณี คือ 1.การเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติม เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินตามที่แต่ละกองทุนรักษาพยาบาลกำหนด หรือที่เรียกว่า “ราคากลาง” โดยขอเก็บส่วนเพิ่ม ส่วนต่างจากผู้ป่วย ซึ่งประเด็นนี้ในทางกฎหมายต้องดูว่าโรงพยาบาลสามารถจัดเก็บได้หรือไม่
2.การถูกเรียกเก็บค่ารักษา เนื่องจากถูกชี้ว่า การเข้ารับบริการไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการตีความของทางโรงพยาบาลเอกชน เพราะเมื่อดูการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้ารับบริการฉุกเฉินที่ทาง สปสช. กำหนด จะเห็นว่ายังยึดโยงการเข้ารับบริการของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นกรณีที่ใกล้เสียชีวิตแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่างจากที่โรงพยาบาลเอกชน ทำให้การเข้ารับบริการของผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องรับผิดชอบค่ารักษาเอง
“ในประเด็นหลังนี้ ทางคนทำงานด้านสุขภาพกำลังพิจารณาว่า การออกประกาศรักษาพยาบาลฉุกเฉินนี้ จะขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือไม่ โดยเฉพาะในมาตรา 7 เนื่องจากผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไป อย่างเช่น ตนอยู่ กทม. แต่ต้องเดินทางไปประชุมที่เชียงใหม่ แต่ในระหว่างนั้นเกิดปวดท้องรุนแรง และต้องเข้ารักษา ก็ควรจะถือเป็นกรณีฉุกเฉิน เป็นเหตุอันควรที่สามารถเข้ารักษาได้เช่นกัน เช่นเดียวกับระบบประกันสังคม ที่ผู้ป่วยในระบบหากเกิดป่วยฉุกเฉินก็ควรเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลใดก็ได้ใน 72 ชั่วโมงแรก โดยให้ถือเป็นหน้าที่โรงพยาบาลคู่สัญญาที่ต้องตามจ่าย” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว และว่า ส่วนข้าราชการเองก็ควรที่จะสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ ไม่ควรจำกัดเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ ที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงอยู่มาก ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง
น.ส.สารี กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยที่ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากไม่รับอัตราการจ่ายราคากลางที่กองทุนรักษาพยาบาลกำหนดนั้น ปัญหานี้เห็นว่าควรมีการออกประกาศเพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดต้องรับค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินตามอัตราที่กำหนดขึ้นนี้ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ไม่ใช่อย่างที่ผ่านมา ซึ่งผู้ป่วยหรือญาติต้องวางเงินค่ารักษาก่อน ทำสัญญาการจ่ายค่ารักษา หรือไม่ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาจ่าย และเรามองว่าทางโรงพยาบาลเอกชนไม่ควรสร้างเงื่อนไขแบบนี้ในกรณีผู้ป่วยวิกฤต
ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนระบุว่า อัตราค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับจากกองทุนรักษาพยาบาลไม่คุ้มกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของทางเอกชนนั้น น.ส.สารี กล่าวว่า อัตราการจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินนั้น ไม่ใช่ สปสช. สำนักงานประกันสังคม หรือแม้แต่กรมบัญชีกลางกำหนดและคิดขึ้นเองฝ่ายเดียว แต่เป็นอัตราค่ารักษาที่มีการหาข้อมูลจากสถานพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลจังหวัด โรงเรียนแพทย์ ในการคำนวณค่าใช้จ่ายออกมา ซึ่งยอมรับว่าไม่ได้เป็นอัตราที่โรงพยาบาลเอกชนกำไรสูงสุด อย่างการบวกกำไรค่ายา 500-600% แต่ก็ไม่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนขาดทุน เพียงแต่อาจกำไรน้อยเท่านั้น ดังนั้นทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่ดูแล พรบ.สถานพยาบาล ควรที่จะดำเนินการควบคุมในเรื่องนี้
“ในยามฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน การต่อรองทางฝ่ายผู้ป่วยจะน้อยมาก ญาติส่วนใหญ่คิดว่าเมื่อนำผู้ป่วยเข้ายังสถานพยาบาลแห่งแรก ควรที่จะให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุดเพื่อช่วยผู้ป่วยได้มากที่สุด ทำให้ส่วนใหญ่จึงยอมจ่ายหรือทำตามที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ และมีการร้องเรียนเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เกือบ 10% จากปัญหาร้องเรียนสถานพยาบาล 111 กรณีในปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกเรียกเก็บเพิ่มตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้านบาทจนถึงขั้นฟ้องร้องกันในขณะนี้” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวและว่า นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนควรที่จะร่วมสำรองเตียงผู้ป่วยร้อยละ 20 เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย เนื่องจากพบว่าหลังการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจนพ้นวิกฤต มีการปัญหาเตียงว่างเพื่อส่งผู้ป่วยกลับไปยังหน่วยบริการตามสิทธิ ทำให้ยังต้องคงรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเอกชน เป็นเหตุให้ผู้ป่วยถูกคิดค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มเติมเช่นกัน หากเป็นไปได้โรงพยาบาลเอกชนก็ควรช่วยในส่วนนี้
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า จากปัญหาข้างต้น โรงพยาบาลเอกชนควรที่จะหันมาให้ทำ CSR ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรในแง่ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกในแง่บวกต่อโรงพยาบาลจากสังคม ซึ่งเป็นการทำ CSR ในส่วนที่โรงพยาบาลถนัดและทำได้ แทนการทำ CSR อย่างอื่น
ทั้งนี้จากข้อมูล “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มนโยบายวันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึง 31 ตุลาคม 2556 พบว่า มีโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการฉุกเฉินและเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 246 แห่ง จาก 353 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลเอกชนในเขตต่างจังหวัดร้อยละ 52.84 กรุงเทพร้อยละ 30.89 และปริมณฑลร้อยละ 16.26 และเมื่อดูข้อมูลในส่วนผู้เข้ารับบริการพบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาฉุกเฉินตามนโยบาย 31,972 คน คิดเป็นจำนวน 36,600 ครั้ง แบ่งเป็นการรับบริการโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัด 16,774 ครั้ง หรือร้อยละ 45.83 เขต กทม. 15,821 ครั้ง หรือร้อยละ 43.23 และเขตปริมลฑล 4,005 ครั้ง หรือร้อยละ 10.4
เมื่อจำแนกตามระดับความรุนแรงอาการของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการกรณีฉุกเฉิน แบ่งเป็นระดับสี แดง เหลือง และเขียว พบว่ากรณีเข้ารักษาในภาวะฉุกเฉินระดับสีเหลืองมีจำนวนมากที่สุด 21,186 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 ระดับสีแดง 13,474 ราย คิดเป็นร้อยละ 37 โดยในจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับรักษาที่มีอาการดีขึ้นและกลับบ้านได้ 26,880 ราย ส่งต่อ 6,759 ราย เสียชีวิต 2,167 ราย และเมื่อจำแนกดูตามสิทธิการรักษาพยาบาล พบว่าผู้มีสิทธิระบบสวัสดิการข้าราชการเข้ารับบริการมากที่สุด 21,055 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 56.56 รองลงมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 13,158 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 36.76 ครั้ง และระบบประกันสังคม 2,287 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 6.48 ซึ่งส่วนใหญ่เข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยในสูงถึงร้อยละ 90.93 ขณะที่รับบริการผู้ป่วยนอกเพียงร้อยละ 9.07
จากข้อมูลผู้เข้ารับบริการ 36,600 ครั้ง สปสช.ได้ตรวจสอบและจ่ายชดเชยตามระบบดีอาร์จีให้กับผู้ป่วยจำนวน 34,376 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 497,921,489 บาท โดยโรงพยาบาลธนบุรี ได้รับการจ่ายชดเชยมากที่สุด 26,152,021 บาท จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ 797 ราย รองลงมา ได้แก่ โรงพยาบาลรามคำแหง 25,591,983 บาท จากผู้ป่วยเข้ารับบริการ 583 ราย โรงพยาบาลการแพทย์วิชัยยุทธ์ 21,247,762 บาท จากผู้ป่วยเข้ารับบริการ 634 ราย โรงพยาบาลนครธน 16,119,362 บาท จากผู้ป่วยเข้ารับบริการ 734 ราย และโรงพยาบาลวิภาวดี 13,255,116 บาท จากผู้ป่วยเข้ารับบริการ 411 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.ออกประกาศห้ามเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน รพ.เอกชนโวยไม่ถามความเห็น แถมไม่ชัดเจน
- 75 views