กระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนูหน้าฝน เผย 4เดือนแรกพบผู้ป่วย 466ราย ใน 53 จังหวัดเสียชีวิตแล้ว 3ราย "ภาคอีสาน" มากที่สุดแนะผู้ที่มีแผลหรือรอยถลอกที่เท้าหรือขาควรหลีกเลี่ยงลุยน้ำย่ำดินโคลนหากมีไข้สูง ปวดศีรษะ เมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่อง ให้รีบพบแพทย์ทันที
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าในฤดูฝนทุกปี มีหลายโรคที่อาจพบมากขึ้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ไข้เลือดออกรวมทั้งโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดมาจากหนูทุกชนิดโดยเชื้อจะอยู่ในฉี่ของหนูทุกชนิด ทั้งหนูนา หนูป่า หนูบ้าน หนูท่อและเชื้อโรคไข้ฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆโรคนี้แม้ว่ามียารักษาหายแต่อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน หากได้รับการดูแลรักษาไม่ถูกต้องหรือล่าช้า
จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนูสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557-10 พฤษภาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 466 ราย ในพื้นที่ 53 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 3 ราย พบได้ทั้งผู้ที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมืองกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือวัยแรงงาน35-54 ปีเมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่า 4 ใน 5 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู และมหาสารคาม ส่วนในภาคใต้มี 1 จังหวัดที่มีรายงานป่วยสูง คือ ระนองโดยได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งและอสม.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคและการดูแลเมื่อมีอาการป่วยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่อาจติดเชื้อและป่วยซ้ำได้อีก
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคไข้ฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ทั่วโลก ขณะนี้พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ถือเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อ โรคนี้แล้วเชื้อโรคนี้อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าหนูเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน และอาจติดเชื้อตรงจากการสัมผัสเชื้อและกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ผู้ติดเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาวเป็นต้น มีน้อยรายที่จะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนูมีคำแนะนำดังนี้1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเนื่องจากหากมีเชื้อฉี่หนูอยู่ปริมาณเชื้อจะมีความเข้มข้นมาก และมีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 2.ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น เก็บเกี่ยวข้าวหรือดำนาในแปลงนา ขอให้ให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ต ป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้าหรือที่ขา3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน 4.กำจัดขยะในบ้านเรือน ที่ทำงาน ให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า หากมีอาการป่วยดังต่อไปนี้ คือมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องปวดกระบอกตาหลังจากการลุยน้ำขังขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู และรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ อย่าซื้อยากินเอง ซึ่งจากการติดตามประวัติในกลุ่มที่เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มักจะซื้อยาไปกินเองโดยเฉพาะยาแก้ที่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ด้วย เพราะเข้าใจว่าเป็นไข้ทั่วไปที่เกิดจากการทำงานหนัก จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้นเชื้อโรคเข้าไปทำลายอวัยวะอื่น เช่น ไต ทำให้ไตวาย เสียชีวิตได้ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป 0-2590-3177-8และ 02-590-3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422
- 5 views