อย.ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. บุกทลายแหล่งผลิตขายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย ย่านเพชรเกษม ยึดของกลางกว่า 3 แสนบาท
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้รณรงค์เร่งรัดปราบปรามจับกุมผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายมาโดยตลอด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ล่าสุด อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตและโกดังสินค้าในหมู่บ้านเพชรเกษม 3 คาดว่า มีการผลิตเครื่องสำอาง ครีม โลชั่น เกี่ยวกับสปาที่ไม่มีฉลากและไม่จดแจ้ง ดังนั้น เพื่อปราบปรามผู้ผลิตที่กระทำผิดกฎหมาย มิให้ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพหลอกลวงผู้บริโภค ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. นำหมายค้นของศาลแขวงธนบุรีที่ 14/2557 เข้าตรวจสอบบริษัท คอส เมด อินโนเวชั่น จำกัด เลขที่ 1534 ซอยเพชรเกษม 94 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพฯ ผลการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แจ้งชื่อผู้ผลิตที่ไม่ตรงต่อความจริง เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางปลอม และแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ได้แก่ SHINY PERFECT WHITE CREAM ลักษณะเป็นกล่องกระดาษสีชมพู-เหลือง หุ้มพลาสติก , ผลิตภัณฑ์ เดอเชียร์ CO-ENZYME Q10 CREAM ลักษณะเป็นกระปุกพลาสติกสีขาวหุ้มพลาสติกใส และแอดวานซ์ สกิน รีแพร์ เซรั่ม ลักษณะเป็นกล่องกระดาษสีขาว-ดำ ไม่ระบุเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอาง
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแสดงฉลากไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขและวิธีการแสดงฉลาก รวมทั้งเลขสารบบอาหารระบุไม่ตรงความจริง เพื่อลวงเรื่องสถานที่ผลิต ได้แก่ คอลลา พลัส ซี ขนาดบรรจุ 20 กรัม และ 150 กรัม ลักษณะเป็นกล่องกระดาษสีชมพู
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างของกลางเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไป มูลค่าของกลางกว่า 3 แสนบาท ส่วนของ การดำเนินคดี เบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
1. ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
3. ผลิตอาหารโดยไม่ขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
4. ผลิตอาหารปลอมแสดงฉลากอาหารเพื่อลวงในเรื่องสถานที่ผลิต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
5. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ อย. ได้ร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดในการสอดส่องดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต่างๆ มิให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย หลอกลวงผู้บริโภค โดยได้ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด พร้อมมีมาตรการตรวจจับอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อย.ขอเตือนมายังผู้ผลิต/ผู้ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเครื่องสำอาง ต้องมีการขอจดแจ้งกับ อย. แสดงฉลากให้ถูกต้อง ส่วนการผลิตอาหารสำเร็จรูปออกจำหน่าย ต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ขอเลขสารบบอาหารกับ อย. พร้อมกันนี้ขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้ หลงเชื่อและซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ตามแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำเป็นต้องซื้อเครื่องสำอางควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยที่มีข้อความบังคับครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภท ผลิตภัณฑ์ เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ส่วนประกอบทั้งหมด วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ และคำเตือน (ถ้ามี) หากเป็นเครื่องสำอางลักลอบนำเข้า ไม่แสดงฉลากภาษาไทย อาจได้รับอันตรายจากการใช้ รวมทั้งไม่สามารถหาผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายมารับผิดชอบหากเกิดความผิดปกติหรือ เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย
นอกจากนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่สงสัยว่ามีการจดแจ้งถูกต้อง หรือไม่ ผ่านช่องทาง “Oryor Smart Application” โดยเข้าไปที่ เมนูตรวจเลขที่ใบรับแจ้งเครื่องสำอาง นำเลขที่ใบรับแจ้งเครื่องสำอาง 10 หลักที่พบเห็นได้บนฉลากเครื่องสำอางมาใส่ไว้ในช่องตรวจสอบ และกดปุ่ม “OK” ก็จะสามารถตรวจสอบข้อมูลการจดแจ้งเครื่องสำอางนั้นๆ ได้ เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง และขอให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่สายด่วน อย. 1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่พบการกระทำความผิดนั้นๆ หรือแจ้งได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด
- 256 views