สถานการณ์โลกต่อประเด็น “เชื้อดื้อยา” ขณะนี้อยู่ในระดับวิกฤต
หน่วยงานทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ หรือเครือข่ายภาคประชาชน นาทีนี้ไม่อาจเพิกเฉยต่อไปได้อีกแล้ว
นั่นเพราะไม่ใช่เพียงประชาชนชาวไทยที่ได้รับผลกระทบ หากแต่จากนี้ไปคือความฉิบหายร่วมของมวลมนุษยชาติ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำประเด็นมาโดยตลอดว่า พบเชื้อแบคทีเรียมีการดื้อยาสูงขึ้นตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา
ประเทศไทยก็มีการพูดถึงกันมาอย่างเรื่อยๆ แต่ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบสำหรับผู้ที่สนใจเท่านั้น
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยบอกไว้ว่า สถานการณ์เชื้อดื้อยาของไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในกลุ่มยาปฏิชีวนะ เนื่องจากมีการคิดค้นยาชนิดใหม่น้อยลง ซึ่งหากปล่อยให้เกิดปัญหาดังกล่าวมากขึ้นจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็ว
อีกหนึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทั้งการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และการใช้ยาโดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทำให้รักษาโรคไม่หาย จนนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะกว่า 20% ของยาทั้งหมด หรือราว 2 หมื่นล้านบาท
“เมื่อมีการใช้ยามากขึ้นยิ่งก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มยิ่งขึ้น การดื้อยามักเกิดในโรงพยาบาลประมาณ 86-88%” ภญ.นิยดา ระบุ
นั่นคือความน่ากลัวของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต
ทว่าในปัจจุบันสถานการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะกลับยกระดับขึ้นสูงถึงขีดสุด ถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า “โลกเข้าสู่ยุคที่ยาปฏิชีวนะได้สูญเสียคุณสมบัติในการรักษาโรคไปแล้ว”
แม้ว่าข้อมูลจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ 114 ประเทศทั่วโลกพบว่ายาปฏิชีวนะสามารถใช้รักษาโรคหรืออาการบาดเจ็บ ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
จากผลการศึกษาพบว่าแบคทีเรียในโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคท้องร่วง โรคปอดบวม โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และหนองใน สามารถต้านทางยาปฏิชีวนะได้ทั้งหมด
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังพบอีกว่า ยาปฏิชีวนะไม่สามารถสู้กับเชื้อ Klebsiella pneumonia ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ง่ายในโรงพยาบาล
“ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผู้ผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ออกมาเลย เนื่องจากบริษัทยาต่างๆ ไม่มีงบประมาณในการวิจัย ที่สำคัญที่สุดคือแม้ว่าคิดค้นยาปฏิชีวนะใหม่ออกมา ก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้น ไม่ทันต่อการพัฒนาของแบคทีเรีย” ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุ
ทางออกระยะสั้นในขณะนี้ องค์การอนามัยโลกจึงกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เก็บยาปฏิชีวนะไว้ใช้ในยามฉุกเฉินทั้งในคนและสัตว์ รวมทั้งให้รักษาความสะอาดของมือให้มากยิ่งขึ้น
“ทั่วโลกจำเป็นที่จะต้องวางแผนการใช้ยาให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้เพื่อที่จะจ่ายยาปฏิชีวนะได้ในกรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น เราเห็นถึงความน่ากลัวของการดื้อยาปฏิชีวนะในการรักษาผู้ป่วยรวมถึงในเด็กด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพัฒนาซึ่งการแพทย์ยังไม่เจริญเต็มที่ เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา” ผู้เชี่ยวชาญระบุ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ คือ 1.ใช้ยาในโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น โรคหวัด ท้องเสีย 2.เลือกใช้ยาที่ไม่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรีย 3.ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและยา ทำให้รับประทานยาหลายชนิดและบ่อยหรือรับประทานไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง
เชื้อแบคทีเรียต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะดื้อยาสูง ได้แก่ 1.เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 2.เชื้ออีโคไล ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบและการติดเชื้อในช่องท้อง 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์บอแมนนิอาย เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในโรงพยาบาล
ข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก คือให้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวังการดื้อยาปฏิชีวนะขึ้นในระดับโลก นอกเหนือจากการจัดทำมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกแล้ว
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการให้การศึกษาต่อสาธารณะให้ระมัดระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเหล่านั้นดื้อยา ที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย แต่ไม่ค่อยมีการตระหนักถึงความสำคัญมากมายนัก อย่างเช่น การใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งเท่านั้น การใช้ยาปฏิชีวนะตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเหลือใช้หรือร่วมกับผู้ป่วยรายอื่นๆ
สำหรับผู้ป่วยดื้อยาในประเทศไทยที่กินยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่งใน 3 โรค ได้แก่ 1.โรคเอดส์ ซึ่งต้องกินยาไปตลอดชีวิต อัตราการดื้อยาไม่เกิน 5% จากผู้ป่วยทั้งหมด 2 แสนคน 2.โรควัณโรค ที่ต้องกินยาต่อเนื่อง 6-8 เดือนมี 1,500 คน ดื้อยาจากทั้งหมด 9 หมื่นคน 3.โรคมาลาเรีย พบปัญหาเชื้อดื้อยามากตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุขต้องผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องเริ่มทำทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้สถานากรณ์ทางการเมืองนิ่งแต่อย่างใด
- 96 views