“ผมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ อบต.นาทอน สามารถเขียนโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพของคนในพื้นที่ได้ เพราะผมเชื่อว่า คนในพื้นที่จะเข้าใจวิถีชีวิต และรู้ปัญหาได้ดีกว่าคนนอกพื้นที่”
จากคำพูดของ นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายก อบต.นาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ที่กล่าวถึงการพัฒนาระบบสุขภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อบต.นาทอนของเขา
นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ
นายสมยศ กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่มีมากกว่า 7,000 คน จาก 9 หมู่บ้าน ได้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพมาจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นจำนวนเงิน 45 บาท/หัว และองค์กรปกครองท้องถิ่นสนับสนุนอีก 45 บาท/หัว และนอกนั้นจะมาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาที่ต้องการสนับสนุนระบบสุขภาพในพื้นที่ของเขาเอง
ในพื้นที่ อบต.นาทอน มีปัญหาสุขภาพเหมือนพื้นที่อื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แต่ที่ อบต.นาทอน เราจะเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน ให้ทุกคนมีความเข้าใจในระบบสุขภาพที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพของเขาเอง โดยผ่านการเขียนโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนเพื่อการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้
“เชื่อหรือไม่ว่า แรกๆชาวบ้านกลัวการที่จะเขียนโครงการมาก บางคนเขียนไม่เป็น ทาง อบต.นาทอนที่ผมรับผิดชอบจะมีคนที่จะช่วยชาวบ้านเขียนโครงการบริการประชาชนด้วย เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเขาเขียนโครงการเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ” นายก อบต.นาทอน กล่าว
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กับ สปสช. นั้น นายสมยศ กล่าวว่า ตนอยากให้ทุกคนถอดหมวกของทุกคนออกมา อย่ายึดกับตำแหน่งหน้าที่ ทั้งหมอ พยาบาล หรือ ผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน แล้วหันหน้ามาเจรจากัน และร่วมกันหาทางออกของปัญหา และสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพ
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นข่าวแพร่ออกมาว่า ปลัด สธ.ห้ามบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดของสธ.เข้าร่วมประชุมกับ สปสช. หรือแม้แต่ข่าวการลดบทบาทของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ที่ สธ.มองว่า เป็นงานที่ทับซ้อนกันนั้น ตนมองว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องของการใช้อำนาจที่ไม่ถูกที่ ไม่ถูกทาง กลับถอยหลังไปสู่ที่เดิม หรือจะเรียกว่า เป็นการปฏิวัติเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม นายสมยศ กล่าวว่า หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง อาจจะมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นทั้งประเทศ เพราะตนมองว่า ระบบเดิมเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว ทางที่ดี สธ.ควรจะวางระบบกลไกที่สามารถตรวจสอบการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับการทำงานในระบบสุขภาพจะดีกว่า
ทั้งนี้ นายสมยศ มองว่า ระบบสุขภาพที่ดีจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมแบบเดิม เพราะวิธีดังกล่าวจะมีผลให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายให้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ขณะเดียวกันจะสร้างให้ผู้ทำงานมีจิตสาธารณะมากขึ้น เราควรให้คนในพื้นที่ หรือคนที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงานด้านสุขภาพ มากกว่าที่จะให้ส่วนกลางมาเป็นผู้ออกนโยบายรวมทั้งวิธีการทำงาน
“ในความคิดของตนเอง ถ้าเป็นไปได้อยากจะผลักดันให้มีกลไกการทำงาน โดยให้นายก อบต.เป็นประธานโดยตำแหน่ง เพื่อทำหน้าที่บริหารกองทุนสุขภาพโดยตรง”
สุดท้ายนายสมยศ บอกว่า ระบบสุขภาพที่ดี ต้องให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง จัดการตนเองได้
- 55 views