การประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) วันที่ 31 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ ขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (PP Excellence) โดยเครือข่ายประชารัฐระดับพื้นที่ “สโลแกน 4 ดี ได้แก่ คนดี, เศรษฐกิจดี, สุขภาพดี, สิ่งแวดล้อมดีและ สุขภาพดีวิถีธรรม” ซึ่งเป็นการนำโมเดลการจัดการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มานำเสนอเป็นตัวอย่างแก่ผู้เข้าร่วมประชุม
นพ.อุทัย สุดสุข ประธานที่ปรึกษามูลนิธิอุทัย สุดสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง “โครงการสุขภาพดี วิถีธรรมวิถีไทย”ว่า ที่มาของโครงการนี้เนื่องจากสังคมยุคโลภาภิวัฒน์มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งด้านความเป็นอยู่ พฤติกรรมการดำเนินชีวิต ดังนั้นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากหลายปัจจัยหรือเป็นพหุปัญหา และการแก้ปัญหาจึงไม่เพียงแค่ใช้การแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องมีสหวิทยาการ เทคโนโลยี และศาสนธรรม มาแก้ปัญหาด้วย ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการนำหลักธรรม มาบูรณาการกับหลักการแพทย์ โดยมีคีย์เวิร์ด3 คำ คือ วิถีพุทธ เป็นแนวทางการนำหลักธรรมมะมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต วิถีธรรม คือ การนำหลักธรรมของอื่นๆ มาปฏิบัติในชีวิต และวิถีไทย คือ ภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมไทยที่ควรนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
“สุขภาพดี วิถีธรรม วิถีไทย รวมแล้วก็หมายถึงแนวทางการนำคำสอนทางศาสนามาประพฤติปฏิบัติ ควบคู่กับการปฏิบัติในทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและทางเลือก ให้มีภาวะสมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล” นพ.อุทัย กล่าว
นพ.อุทัย ยกตัวอย่างประสิทธิภาพของหลักธรรมมะในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น ศีลข้อ 3 เว้นจากการสำส่อนทางเพศ ก็ป้องกันกามโรค/โรคเอดส์ได้แล้ว หรือการสวดมนต์ ก็มีอานุภาพในการดูแลสุขภาพได้ เพราะเสียงสวดมนต์จะไปกระตุ้นสมองและประสาทของมนุษย์ รวมทั้งการทำสมาธิก็มีประสิทธิผลในการดูแลสุขภาพ เกิดการหลั่งสารแห่งความสุขขึ้นมา เป็นต้น
“นี่ก็เป็นที่มาของโครงการสุขภาพดีวิถีพุทธเพื่อเสริมการแก้ปัญหาสาธารณสุข ผมและทีมงานนำหลักธรรมมะของพุทธศาสนามาทำโครงการก่อน เริ่มแรกเป็นโครงการสุขภาพดี วิถีพุทธ ทำในระดับหมู่บ้านอย่างเดียว ใช้เวลา 2 ปี จากนั้นปี 2555 จึงเริ่มขยายไปเข้าไปในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจัยสำคัญในการดำเนินการคือต้องสร้างคน สร้างเครือข่าย ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน สถานบริการสุขภาพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องผนึกกำลังร่วมกัน” นพ.อุทัย กล่าว
ด้าน นายวิเชียร อุตสาหวงศ์ แกนนำบ้านเปือย ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ นำเสนอประสบการณ์การจัดการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ ต.เปือย ซึ่งเป็นตำบลแรกในภาคอีสานที่จัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล
นายวิเชียร กล่าวว่า พื้นที่ ต.เปือย อาจกล่าวได้ว่าอยู่พื้นที่ชายขอบสุดหรือล่างสุดของระบบสุขภาพ โดยประมาณปี 2542-2543 จ.อำนาจเจริญ เริ่มนำชุดความรู้กระบวนการแผนแม่บทชุมชนเข้าไปใช้ในพื้นที่ รวมถึง ต.เปือย ด้วย ซึ่งองค์ความรู้ในกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บทชุมชน กระบวนการสมัชชาคุณธรรม กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ ล้วนถูกบูรณาการเพื่อเป็นเครื่องมือของชุมชน จากนั้นปี 2553-2554 ต.เปือย เริ่มทำธรรมนูญสุขภาพชุมชนเป็นแห่งแรก และขยายผลโดยการสร้างต้นแบบอำเภอละ 1 ตำบล ก่อนจะขยายมาเป็นธรรมนูญการจัดการตนเองของทั้งจังหวัด
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการสังเคราะห์ชุดความคิด ชุดความรู้มาหล่อหลอมให้เป็นเครื่องมือกลางของชุมชน แต่ก็ถือว่ายังทำได้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสังเคราะห์หลักทางศาสนามาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เช่น มรรคมีองค์ 8 น่าจะเป็นเครื่องมือกลางที่คนรุ่นก่อนเข้าใจและสัมผัสได้
นายวิเชียร กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของภาครัฐอยากให้มีการปรับปรุงขั้นตอนหรือหลักเกณฑ์การสนับสนุนชุมชน เพราะทุกวันนี้การใช้ทรัพยากรรัฐมาหล่อเลี้ยงการทำงานค่อนข้างเป็นไปอย่างลำบากมาก หากทุกหน่วยงานต้องการ Outcome ก็อยากให้ทำถนน 4 เลน ให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่ายแทนที่จะเป็นถนนคดเคี้ยวเช่นทุกวันนี้ ซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงเรื่ององค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ด้วย
นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวถึงรูปแบบการจัดการสุขภาพในชุมชนด้วยโมเดลที่เรียกว่า “ชันชีนาทอน” โดยคำว่าชันชีนั้น เป็นภาษาใต้ เหมือนเป็นสัญญาใจ เป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่เน้นบทลงโทษแต่จะหาทางออกร่วมกัน
สำหรับที่มาของการทำชันชีนาทอนนั้น เนื่องจากทางชุมชนมองว่า การจัดการสุขภาพคงปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ อสม.หรือ หมออนามัยอย่างเดียวไม่ได้ หากหวังพึ่งหมออย่างเดียวก็คงไม่ทันต่อการจัดการสุขภาพ ประกอบกับโอกาสต่างๆที่รัฐเอื้อเฟื้อให้ ไม่ว่าจะเป็นงบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น องค์ความรู้ในการจัดการแบบมีส่วนร่วม และนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมต่างๆ จึงมีการชักชวนให้ชาวบ้านในชุมชนทำธรรมนูญสุขภาพใน ต.นาทอน ขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ชาวบ้านหลายๆ คนรู้สึกว่าคำว่า “ธรรมนูญ” เป็นคำใหญ่และอยู่ไกลตัวมากเกินไป สุดท้ายตนจึงเสนอว่าหากเป็นเช่นนี้ก็มาชันชีกัน มีการชักชวนชาวบ้านมาร่วมคิดร่วมคุยถึงแนวทางการจัดการสุขภาพ ผู้บริหารของอบต.ก็เห็นความสำคัญร่วมกัน โดยนอกจากสนับสนุนด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นแล้ว อบต.ยังสมทบเพิ่มเป็น 200% เพื่อร่วมจัดการสุขภาพด้วย
นายสมยศ กล่าวอีกว่า จุดเด่นการจัดการกองทุนของ ต.นาทอนนั้น ได้มีนวัตกรรม“ปลัดหมู่บ้าน”ขึ้นมา คือให้เจ้าหน้าที่อบต.ไปเป็นพี่เลี้ยงในการร่วมจัดการความรู้ในเรื่องกองทุน หมู่บ้านละ 3 คน เบื้องต้นพี่เลี้ยงจะลงไปในหมู่บ้านเพื่อเก็บข้อมูลปัญหาสุขภาพ รวมทั้งเอาข้อมูลจาก รพ.สต.มาประกอบ จากนั้นก็วิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล แล้วลงไปในหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อคืนข้อมูลให้ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านร่วมกันคิดและร่วมกันจัดทำแผนสุขภาพขึ้นมา โดยปลัดหมู่บ้านยังจะช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวบ้านในการเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลด้วย
“ทั้งหมดนี้ก็ตอบโจทย์ได้ว่าเรื่องสุขภาพไม่ควรเป็นภาระของหมออีกต่อไป ชาวบ้านมี 7,000 คน จะหวังให้หมออนามัย 2-3 คนมารับผิดชอบคงไม่ได้ ทุกคนต้องช่วย ผู้ให้บริการและผู้รับบริการสุขภาพต้องผนึกกำลังร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งดูแลสุขภาพ อีกฝ่ายก็ทำลายสุขภาพ จึงเป็นที่มาว่าต้องสร้างความเข้าใจกัน และที่สำคัญคือที่ ต.นาทอน เราใช้ประชาธิปไตย 2 ระบบ คือประชาธิปไตยตัวแทน คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ที่ชาวบ้านเลือกเข้าไป อีกแบบคือประชาธิปไตยทางตรง เป็นลักษณะของการเปิดพื้นที่กลางในการถกแถลงพูดคุย ฃและเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ มีความดีงาม ที่จะมาเกี่ยวก้อยร้อยเรียงในการคิดว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร อันนี้เป็นส่วนสำคัญในการร่วมสร้างสุขภาวะทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ” นายสมยศ กล่าว
เช่นเดียวกับนายพัฒนา พรหมเผ่า ผู้ใหญ่บ้านคลองอาราง ต.บ้านแก้ง อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว ได้กล่าวถึงรูปแบบแผนการจัดการสุขภาพในระดับหมู่บ้าน โดยเล่าว่า แต่เดิมตนเป็นประธาน อสม.จังหวัดสระแก้ว รวมทั้งเคยได้รางวัล อสม.ดีเด่นระดับประเทศ อย่างไรก็ดี ในการทำงานสุขภาพในพื้นที่นั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม และจะให้ดีที่สุดต้องมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญด้วย
“เราเป็น อสม. เวลาจะชวนชาวบ้านมาทำงานก็ต้องไปหาผู้ใหญ่บ้านก่อน ให้ผู้ใหญ่บ้านนัดประชุมให้ ขนาดเป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติ แต่เวลาขับเคลื่อนงานก็ยังยากในการประสานความร่วมมือ เราเห็นปัญหาต่างๆเหล่านี้ก็เลยทำเรื่องขอแยกหมู่บ้านในปี 2548 และสมัครเป็นผู้ใหญ่คนแรกของหมู่บ้าน พอเป็นผู้ใหญ่บ้านการขับเคลื่อนงานก็ไปได้ไว ตอนแยกหมู่บ้านมาผมก็ใช้กระบวนการต่างๆที่ได้เรียนรู้มาทำแผนแม่บทชุมชนเป็นอันดับแรกเลย การทำแผนก็ไม่ได้ทำในหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านมีธุระเยอะมาก ผมก็ใช้วิธีเหมารถพาชาวบ้านขึ้นเขา ไปทำแผนแม่บทชุมชนในสวนป่า ไปแล้วกลับไม่ได้ ต้องอยู่ทั้งวัน ทำกันจริงจัง เปิดเวทีรับฟังชาวบ้าน ให้ชาวบ้านร่วมคิดร่วมทำ ทุกคนมีส่วนร่วมจริงๆ” นายพัฒนา กล่าว
นอกจากนี้ ตนยังพยายามรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านทุกกลุ่ม บางกลุ่มต้องไปนั่งรอ ใครไม่ว่างเพราะต้องทำงานกลางวัน ก็ไปนั่งรอตอนเย็น ขอเวลา 1-2 ชั่วโมงเพื่อคุยกันก่อนเข้านอน ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเก็บข้อมูลให้รอบด้านและเพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาจะไม่ผิดพลาด
ทั้งนี้ผลจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน จึงเกิดเป็นแผนงาน “หมู่บ้านคนดี วิถีออมชอม ป่าพร้อมอนุรักษ์ พิทักษ์ธรรมาภิบาล ร่วมสร้างบ้านน่าอยู่ ฟื้นฟูประเพณี สุขภาพดี รับคำพ่อ ต้องพอเพียง” เป็นแผนงานของหมู่บ้านที่ใช้มาถึงปัจจุบัน
นายพัฒนา กล่าวต่อไปว่า ในแผนนี้ทุกส่วนมีคนรับผิดชอบชัดเจน มีคณะกรรมการชัดเจน และมีโครงการเกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่นปี 2551 ในหมู่บ้านมีการทำโครงการถึง 63 โครงการ ส่วนมากเป็นแผนที่คิดทำกันเอง ไม่ได้ใช้งบประมาณมากนัก รวมทั้งมีการกำหนดกติกาหมู่บ้าน 103 ข้อ แต่เนื้อหาหลักๆที่จำได้ง่ายมี 3 ข้อ คือ 1.ใครทำดีต้องยกย่อง 2.คนทำดีแล้วต้องให้การสนับสนุน 3.เมื่อเราทำดีแล้วก็ต้องส่งเสริมให้ลูกหลานมาทำความดีด้วย
ด้านนายวีระชัย ก้อนมณี รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 นครราชสีมา กล่าวถึงรูปแบบที่ สปสช.ออกแบบไว้ในการเข้าไปหนุนเสริมการจัดการสุขภาพของชุมชนว่า สปสช.เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้รับทราบเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ดังนั้นขั้นตอนการดูแลสุขภาพจึงเริ่มจากข้างล่าง ตั้งแต่การดูแลโดยตนเอง โดยครอบครัว โดยชุมชน รวมกันเป็นท้องถิ่น
สำหรับระบบการบริการงบประมาณของ สปสช. ปัจจุบัน นอกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว ยังมีกองทุนรายโรค และมีกองทุน ในระดับท้องถิ่นที่ สปสช.ออกแบบในเรื่องของกองทุนตำบลหรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล เพื่อทำหน้าที่หนุนเสริมการจัดบริการของหน่วยบริการหรือหน่วยงานอื่นหรือองค์กรประชาชน หากเทียบเคียงกับธรรมนูญสุขภาพ หรือแผนงานหมู่บ้านจะเห็นว่า ถ้าชุมชนคิดได้ ก็มีโอกาสจะใช้กองทุนนี้ให้เกิดประโยชน์ และคนที่จะจัดบริการสุขภาพในระดับตนเอง ในระดับชุมชนหรือพื้นที่ ก็คือเครือข่ายองค์กรในชุมชน โรงเรียน วัด ชุมชน นั่นเอง
“กองทุนตำบลไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นเครื่องมือในการหนุนเสริมให้เกิดการจัดบริการในท้องถิ่นนั้นๆ จะเห็นว่ากองทุนไม่ได้ไปทำเอง แต่ต้องรอให้หน่วยบริการหรือชุมชนสามารถคิดแผนงานเพื่อให้กองทุนมาหนุนเสริม เพราะฉะนั้นกองทุนหลักประกันสุขภาพจะตอบโจทย์ในแง่ที่ว่าชาวบ้านคิดแล้วจะทำอย่างไร ก็จะมีกองทุนจะเข้ามาหนุนเสริม”นายวีระชัย กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของระดับท้องถิ่น สปสช.มีกองทุน Long Term Care เพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ รวมทั้งในระดับจังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯที่เน้นในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ เพราะฉะนั้น ระบบที่ออกแบบในปัจจุบัน การส่งงบของ สปสช. มีการส่งถึงท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆเช่นเครือข่ายภาคประชาชนต้องไปร่วมรับการสนับสนุนจากพื้นที่ ต้องยึดพื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใช้ชุมชนเป็นที่ตั้ง ให้คิด ตัดสินใจ และปฏิบัติโดยคนในชุมชน
- 63 views