กพย.ดึงเภสัชกรประจำรพ.ระดับภูมิภาคทั่วประเทศรวบรวมเคสผู้ป่วยรับผลกระทบจากการใช้ยา ทั้งพาราเซตามอล ยาสเตียรอยด์ ชี้การรับประทานยาในไทยสุ่มเสี่ยงมาก บางตัวมีผลวิจัยว่ามีผลกระทบ เผยสหรัฐฯสั่งทบทวนปริมาณใช้ยาพาราเซตามอลต้นปี 57 แต่ทางการไทยยังเฉย จี้อย.ทบทวนทะเบียนยา
เมื่อวันที่ 28 เมษายน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการรับประทานยาในประเทศไทยยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่มาก เนื่องจากยาบางตัวมีผลกระทบ แต่ไม่มีการรวบรวมปัญหาอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยงกันเอง ล่าสุดกพย. ร่วมกับเภสัชกรประจำสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) รวมไปถึงโรงพยาบาลระดับจังหวัด อย่างโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ.รพท.) ทำการรวบรวมเคสผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาต่างๆ อาทิ ยาพาราเซตามอล เนื่องจากเมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาสั่งทบทวนปริมาณยาพาราเซตามอลที่รับประทานกันใหม่ เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบกับผู้รับประทาน ขณะที่ไทยไม่มี
“จริงๆยาพาราเซตามอลมีขนาด 325 มิลลิกรัม(มก.) กำหนดให้รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง ปัจจุบันมีการปรับเป็น 500 มก. การระบุก็ยังเช่นเดิม มีเพียงเด็กที่ระบุว่าให้รับประทานครั้งละครึ่งหรือ 1 เม็ด ซึ่งหากกินไปนานๆ ทำให้ทำลายตับได้ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ควรมีการติดตามผลกระทบ แต่ก็ไม่มีการทำอะไร ขณะนี้ กพย.จึงร่วมกับเภสัชกรในพื้นที่ต่างๆ รวบรวมเคสอยู่ ซึ่งไม่เพียงแค่กรณีของยาพาราเซตามอลเท่านั้น แต่ยังมีกรณียาอื่นๆด้วย โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีปัญหามานานแต่ก็ไม่มีการควบคุมจริงจัง ทั้งๆที่ยาสเตียรอยด์ ปะปนกับยาต่างๆ โดยอวดอ้างสรรพคุณว่า ลดอาการปวดบวม แก้ปัญหาข้อเข่าต่างๆ พวกนี้ล้วนผสมยาสเตียรอยด์ทั้งสิ้น” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว และว่า หากมีการรวบรวมผลกระทบจากการใช้ยา จะเป็นประโยชน์มาก จะทำให้ทราบว่าประเทศไทยควรทบทวนยาตัวไหน ควรมีการเพิ่มเติมคำเตือนอะไรบ้าง ขณะที่ อย.มีคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ ซึ่งเตรียมพิจารณาตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 50 ตำรับ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นมีการประชุมพิจารณาอะไร
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากมีทีมเฝ้าระวังพิจารณาตำรับยาต่างๆอยู่แล้ว ซึ่งหากยากลุ่มไหนเสี่ยง หรือมีผลกระทบก็จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาฯ ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ได้ขึ้นบัญชียาที่ต้องถูกทบทวนจำนวน 50 ตำรับ ใน 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มยาที่ใช้ในระบบทางเดินอาหารและเมตาบอลิซึม 2.กลุ่มยาที่ในระบบเลือด 3.กลุ่มยาที่ใช้ในระบบหัวใจและหลอดเลือด 4.กลุ่มยาที่ใช้ภายนอกหรือเฉพาะที่ในระบบผิวหนัง 5.กลุ่มยาที่ในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะและกลุ่มยาฮอร์โมนเพศ 6. กลุ่มยาต้านจุลชีพ 7.กลุ่มยาที่ใช้ในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก 8.กลุ่มยาที่ใช้ในระบบประสาท 9.กลุ่มยาที่ใช้ในระบบทางเดินหายใจและ 10.กลุ่มยาอื่นๆ เช่น สารทึบรังสีชนิดที่ไม่ไอโอดีน เป็นต้น
- 10 views