โฆษกสธ. เผยครอบครัวไทยยุคใหม่ เปราะบาง น่าห่วง ปัญหาหย่าร้างสูงขึ้น ในปี 2555มีคู่จดทะเบียนสมรสใหม่ 3แสนกว่าคู่ มีคู่จดทะเบียนหย่ายุติชีวิตคู่ 1แสนกว่าคู่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ในรอบ 9 ปี เกิดครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากทั้ง 2 ฝ่ายถูกกดดันทั้งจากความเครียดจากงาน และค่านิยมใหม่การพึ่งลำแข้งตัวเองได้ แนะวิธีถนอมชีวิตคู่ ให้ปรับตัวเข้าหากัน และยึดสุภาษิตโบราณที่ว่าใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ชี้ยังได้ผลดี พร้อมแนะคู่ที่หย่าขาดแล้วแต่มีลูก ต้องคงบทบาทพ่อแม่ให้เข้มแข็งต่อไป สร้างความมั่นคงทางจิตใจในเด็ก
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 14 เมษายนทุกปี เป็นวันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมที่มีบทบาทความสำคัญมาก ในการทำหน้าที่หลัก 2 ประการ ประการแรก เป็นหน่วยดูแลสมาชิกในครอบครัวในทุกๆด้าน ให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งในปัจจุบัน เช่น ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ปัจจัยพื้นฐาน การศึกษา สุขภาพ ประการที่ 2 สถาบันครอบครัว ทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดู กล่อมเกา พัฒนาคนรุ่นถัดไป หากครอบครัวทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพ ก็จะได้คนรุ่นถัดไปที่มีคุณภาพ จากการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับการจดทะเบียนเพื่อใช้ชีวิตคู่ตามกฎหมาย และการหย่าขาดสิ้นสุดการใช้ชีวิตคู่ พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง สะท้อนถึงความเปราะบางของครอบครัวคนรุ่นใหม่
แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวว่า ในปี 2555 มีผู้จดทะเบียนสมรสใหม่ทั่วประเทศจำนวน 314,338 คู่ และมีคู่สมรสเก่าจดทะเบียนหย่า 111,377 คู่ คิดเป็นร้อยละ 35 ของคู่ที่จดทะเบียนใหม่ โดยการจดทะเบียนหย่าเพิ่มสูงกว่าช่วง 9 ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 27 โดยในปี 2546มีผู้จดทะเบียนสมรส 328,356คู่ แต่มีคู่สมรสเก่า จดทะเบียนหย่า 80,836 คู่
“ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นสาเหตุการหย่าร้าง ประการแรก มาจากผลกระทบความมั่นคงในครอบครัว พบว่าขณะนี้สมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะคนหลักคือ สามี ภรรยา ซึ่งเป็นคนตั้งต้นครอบครัวใหม่ และสภาพครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว คือมีพ่อ แม่ ลูก ได้รับแรงกดดันมาจากการใช้ชีวิตภายนอกครอบครัว โดยเฉพาะความตึงเครียดจากสภาพการทำงาน มีมากขึ้น พอกลับมาสู่ครอบครัว ต่างฝ่ายต่างมีความตึงเครียดกลับเข้ามาด้วย จึงมีผลกระทบในเรื่องความขัดแย้งมากขึ้น หากไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ ก็จะนำไปสู่ทะเลาะเบาะแว้ง และส่งผลการยุติการใช้ชีวิตครอบครัวในที่สุด และประการที่ 2 มาจากปัจจัยเชิงค่านิยม ต่างฝ่าย ต่างพึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง อาจจะเริ่มรู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งอีกคนก็ได้ ความอดทนจึงมีน้อยลง จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งชีวิตคู่” แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าว
แพทย์หญิงพรรณกล่าวต่อไปว่า ผลที่เกิดขึ้นหลังจากหย่าร้างกันของสามีภรรยา จะพบว่ามีการเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองเพียงลำพัง หรือเรียกว่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การยุติบทบาทสามีภรรยา เป็นการตัดสินใจของทั้งสองคนจะสิ้นสุดลง แต่ยังต้องคงบทบาทความเป็นพ่อแม่ของลูกคงเดิม เนื่องจากพื้นฐานลูกยังคงต้องมีพ่อและแม่เสมอและตลอดไป ไม่ว่าความเป็นสามีภรรยาจะยังคงอยู่หรือไม่ก็ตาม ในปัจจุบันเด็กจะเริ่มเข้าใจ การไม่อยู่ร่วมกันของพ่อแม่ แต่เด็กหวังว่าจะได้รับการดูแลจากทั้งพ่อและแม่ แต่รูปแบบอาจต่างไปจากเดิม เช่น ลูกอยู่กับใครเป็นหลัก อยู่กับพ่อหรือแม่ คนนั้นก็ทำหน้าที่หลักในการดูแลชีวิตประจำวันของลูก แต่อีกคนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูกได้ เช่น พบปะลูกโดยสม่ำเสมอ มีกิจกรรมร่วมกันในโอกาสสำคัญ หรือวันสำคัญสำหรับลูก เช่นวันเกิดลูก ก็ยังมีกิจกรรมร่วมกับลูกอยู่ ซึ่งฝ่ายดูแลลูกเป็นหลัก ควรต้องเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถทำอะไรให้กับลูก โดยความรับผิดชอบ ไม่ควรละทิ้งหน้าที่ หลังจากแยกทางกันไปจากคู่สมรสแล้ว ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รับความรักความอบอุ่น ไม่รู้สึกว่าถูกพ่อหรือแม่ทอดทิ้ง เด็กจะมีความมั่นคงจิตใจ ส่งผลต่ออนาคตของเด็กและสังคมในอนาคตด้วย
แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวต่อไปอีกว่า การใช้ทักษะในการครองชีวิตคู่ ป้องกันการหย่าร้าง มีข้อแนะนำ 2 ประการ ประการแรกคือ เรื่องการแก้ปัญหา การมีภูมิหลังต่างกัน มาใช้ชีวิตร่วมกัน มีความเห็นแตกต่างกัน ขัดแย้งกัน จึงต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน ต้องไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหา เพราะมีแต่จะสร้างความขัดแย้งกันมากขึ้น หรือสุภาษิตโบราณเรียกว่า ให้เอาน้ำเย็นเข้าลูบ หรือ ใจเย็นๆไว้ก่อน คุยกันด้วยเหตุด้วยผล ก็จะสร้างความเข้าใจกันดีขึ้น และประการที่สองคือการยอมรับและรับผิดชอบในด้านบทบาท และหน้าที่ซึ่งกันและกัน ทั้งภายในครอบครัวและนอกบ้านอย่างเหมาะสมและสมดุลกัน รู้จักการจัดการแก้ปัญหา โดยไม่ใช้อารมณ์เป็นหลัก
และเนื่องในวันครอบครัวในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสวันสำคัญทั้งวัฒนธรรม และประเพณีไทย จึงเป็นโอกาสสำคัญ ที่ทั้งครอบครัวใหม่และครอบครัวเดิม จะได้แสดงถึงความรัก ความผูกพัน ความเอาใจใส่ต่อกัน หรือเรียกว่าเป็นวันครอบครัวเครือญาติ จะได้พบปะกัน ทำให้มีความใกล้ชิด เติมพลังความสุขในพื้นที่ของครอบครัว แม้สถานการณ์ทางสังคมจะเปลี่ยนไป มีความรุนแรงขึ้นหรือกดดันมากขึ้นก็ตาม แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าว
- 344 views