มติชน - สปสช.รับลูก สธ.เล็งยกเลิกระเบียบแต่งตั้ง นพ.สสจ. เป็น'ผู้อำนวยการ สาขา' เตรียมขอความช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียบแทน
เมื่อวันที่ 9 เมษายน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ สปสช.ยกเลิกการตั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ สปสช.สาขาจังหวัด เนื่องจากเป็นการบริหารงานที่ทับซ้อนว่า หากต้องยกเลิกจริง ในช่วงแรกอาจกระทบกับการบริการในพื้นที่ เพราะไม่มีผู้ดำเนินการแทน แต่หากจำเป็นอาจขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนเมษายน จะมีการหารือเรื่องนี้กับผู้บริหาร สธ.อีกครั้ง
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ถึงกรณีที่ สตง.ตรวจพบว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ใช้งบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผิดประเภท ว่า จากการส่งตัวแทนไปตรวจสอบ ข้อเท็จจริงพบว่า นพ.สสจ. ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามระเบียบ สธ.และ สปสช. แต่จะถูกต้องหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง ส่วนกรณี นพ.สสจ. ทำหน้าที่ทับซ้อนนั้น อาจจะต้องมีหน่วยงานกลางตีความในเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง
ขณะที่ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึง กรณีที่ สธ. เสนอให้ สปสช.ยกเลิกระเบียบจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ของสำนักงานสาขา สปสช.ว่า การที่สปสช.จัดสรรงบประมาณร้อยละ 20 เป็นบัญชี 6 (งบส่งเสริมป้องกันโรค งบค่าเสื่อม) ไว้ที่ สสจ.เพื่อให้การทำงานของหน่วยบริการมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่เมื่อ สตง.ท้วงติง สธ.ควรกำชับให้ นพ.สสจ.ระมัดระวังการใช้งบฯในส่วนดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ใช่เรียกร้องให้จัดสรรงบไปไว้ที่ 12 เขตบริการสุขภาพแทน เพราะเกรงจะเกิดปัญหาทุจริตขึ้นได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับกรณีที่ สตง.ตรวจสอบ สสจ. 8 จังหวัด พบการกระทำที่เข้าข่าย ใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ และไม่ก่อประโยชน์ มูลค่ากว่า 572 ล้านบาทนั้น มีทั้งที่อาจเข้าข่ายผิดและอาจไม่ผิดขึ้นอยู่กับการตีความ โดยกรณีที่ไม่ผิด เช่น สสจ.ระยอง อาศัยมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จ่ายเยียวยาทางจิตใจให้คนไข้ที่ผ่าตัดทำหมันแต่ยังมีการตั้งครรภ์ 50,000 บาท ซึ่ง สตง.เห็นว่า มาตรา 41 ระบุความเสียหายเฉพาะพิการ หรือเสียชีวิตเท่านั้น ส่วนที่อาจเข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์ คือค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มีการนำไปใช้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ปฐมนิเทศบุคลากรจบใหม่ และไปดูงานต่างประเทศ
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 11 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 4 views