ไทยโพสต์ - ปลัด สธ.ยื่นโนติสให้ สปสช.ยกเลิกบัญชี 6 หรือระเบียบการจัดสรรเงินภายใน 15 วัน ยันทำในฐานะบอร์ดคนหนึ่ง รองเลขาธิการ สปสช.ยันยกเลิก นพ.สสจ.เป็น ผอ.สาขาฯ ทำได้ แพทย์ชนบทเผยพฤติกรรม สธ.ส่ออยากงาบดึงงบส่วนกลางไปบริหารเอง
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ตนลงนามในหนังสือเลขที่ สธ. 0209.01/301 เข้าที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2557 เพื่อขอให้มีการยกเลิกระเบียบการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนรายบุคคลกรณีการล้างไต หรือค่าตอบแทนอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน และขอให้มีการระงับการจัดซื้อจัดจ้างงบค่าเสื่อม ในประเด็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วง แล้วถูกตีกลับมา โดยทางบอร์ดให้เหตุผลว่าต้องเสนอให้ รมว.สธ.เป็นผู้พิจารณานำเข้ามาหารือในที่ประชุมบอร์ดตามระเบียบนั้น ตนยืนยันว่าได้ทำเรื่องเสนอเข้าบอร์ดในฐานะคณะกรรมการ สปสช.คนหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับจากทาง สปสช.ว่าจะมาหารือร่วมกันเมื่อไหร่ โดยเราให้เวลา 15 วันนับจากวันที่ 3 เม.ย.ที่เราได้ยื่นหนังสือไปแล้ว
"ผมเป็นบอร์ดและเสนอเรื่องไปในนามของบอร์ด เพราะฉะนั้นก็มาดูกันว่าหลัง 15 วันแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป" นพ.ณรงค์กล่าว และว่า ยืนยันว่าเราไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวประกัน หน่วยบริการยังทำงานตามปกติ ส่วนเรื่องเงินไม่เป็นไร
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า เรื่องของการใช้เงินนั้น ที่ผ่านมานายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ใช้เงินตามระเบียบมาตลอด แต่เนื่องจากระเบียบนั้นมันผิด ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ ดังนั้นตอนนี้จึงอยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายตีความประกาศแต่งตั้ง สสจ.เป็น ผอ.สปสช.จังหวัดว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กรณี สธ.เสนอให้ สปสช.ยกเลิกการตั้ง สสจ.มาทำหน้าที่เป็น ผอ.สปสช.จังหวัด เนื่องจากซ้ำซ้อน และ สตง.ท้วงติงว่าไม่เหมาะสมนั้นเป็นข้อเสนอที่ดี สอดคล้องกับหลักการของ สธ. ที่ต้องการแยกระบบผู้ซื้อบริการ ซึ่งคือ สปสช. และผู้บริการคือ สธ. แต่ในช่วงแรก หากต้องยกเลิกจริงๆ อาจกระทบกับการบริการในพื้นที่ เพราะจะไม่มีผู้มาจัดการแทน นพ.สสจ. แต่หากจำเป็น สปสช.ก็ต้องมีแผนพึ่งตนเอง โดยอาจขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต.
แหล่งข่าววงการสาธารณสุขกล่าวว่า กรณีที่ สตง.ตรวจสอบ สสจ. 8 จังหวัด พบการกระทำที่อาจเข้าข่ายใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ มูลค่ากว่า 572 ล้านบาทนั้น จริงๆ อาจเข้าข่ายผิดและอาจไม่ผิด ขึ้นอยู่กับการตีความ โดยเฉพาะประเด็นที่มีการเอาค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพไปใช้พัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยส่งไปดูงานต่างประเทศ เรื่องนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะต้องเร่งตรวจสอบให้กระจ่าง
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนา ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ปัญหาการใช้งบผิดวัตถุประสงค์ สธ.ควรที่จะกำชับ สสจ.ให้ใช้เงินตรงตามวัตถุประสงค์ และให้ สปสช.ส่งงบดังกล่าวตรงไปยังหน่วยบริการเลย แต่กลับออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดสรรงบไปไว้ที่เขตแทน สะท้อนให้เห็นว่าการเดินหน้าปฏิรูปเขตสุขภาพของ สธ.ที่ผ่านมาก็เพื่อมุ่งดึงงบประมาณไปจัดการที่ส่วนกลางเอง ส่วนตัวเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาเกิดช่องว่างการคอร์รัปชันได้เหมือนในอดีต ดังนั้น สปสช.ควรที่จะทำการโอนงบประมาณตรวจไปยังหน่วยบริการทั้งหมดแทน ส่วนกรณีที่ สธ.นพ.สสจ.กับ ผอ.สปสช.จังหวัดเป็นคนคนเดียวกันนั้น จริงๆ เป็นคนละคนกันก็ได้ และการที่ สธ.ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ มองว่าทาง สธ.อยากได้อำนาจเป็นผู้จัดสรรงบกลับคืนเท่านั้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 10 เมษายน 2557
- ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
- กระทรวงสาธารณสุข
- สธ.
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- สปสช.
- การจ่ายค่าตอบแทนรายบุคคลกรณีการล้างไต
- บัญชี 6
- งบค่าเสื่อม
- สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
- สตง.
- วชิระ เพ็งจันทร์
- นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
- สสจ.
- ประทีป ธนกิจเจริญ
- อารักษ์ วงศ์วรชาติ
- คณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนา สปสช.
- ชมรมแพทย์ชนบท
- 4 views