กรมสุขภาพจิต เผย อีก 7 ปี ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แนะ ผู้สูงวัย เสริมพลัง เข้าสังคม ฝึกจิตและอารมณ์ด้วยศาสนา
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประชากรโลกได้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดย ในปี พ.ศ. 2555 โลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ ร้อยละ 8 ของประชากรโลกทั้งหมด 7,000 ล้านคน ซึ่งในระดับอาเซียนมีเพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้น ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย โดย ประเทศไทย เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ซึ่งล่าสุด ข้อมูลจากการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธ.ค.2556 มีจำนวนผู้สูงวัย 8,970,740 คน หรือ ประมาณ ร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 ภายใต้ข้อสมมุติภาวะเจริญพันธุ์ลดลงตามปกติ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), 2556 ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ในอีก 7 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2564) ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น ประมาณ ร้อยละ 20 หรือ ประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ กล่าวได้ว่า ประชากรทุก 5 คน จะเป็นผู้สูงวัย 1 คน และจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี พ.ศ. 2574 โดยในราวปี พ.ศ.2561 จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะมีประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรวัยเด็ก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย ซึ่ง ผู้สูงอายุ นอกจากต้องเผชิญกับ ปัญหาสุขภาพกายแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตก็พบบ่อยเช่นกัน เช่น ปัญหาความวิตกกังวล ซึมเศร้า เหงา นอนไม่หลับ มีภาวะสมองเสื่อม ช่วงวันหยุดยาวนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวและทำกิจกรรม ดีๆ สร้างความรักความผูกพันกันมากยิ่งขึ้น โดยลูกหลานสามารถแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ได้ ด้วยการมอบความรัก ความเข้าใจ การกอดสัมผัส ให้เวลาและให้โอกาสท่านได้แสดงความสามารถที่มีอยู่ โดยการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างจริงใจ ซึ่ง ขอย้ำว่า ต้องทำด้วยใจ ด้วยความรักและความปรารถนาดี ไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่ เพราะถ้าทำด้วยหน้าที่ สิ่งที่ทำนั้นจะไม่อ่อนโยน นุ่มนวล ไม่เกิดความรู้สึกที่ดี สิ่งต่างๆเหล่านี้ ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ได้ และถ้าเราทำด้วยความปรารถนาดีจากใจจริงแล้ว ความรัก ความผูกพัน และความสุข ย่อมเกิดขึ้นในครอบครัว เป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้ดี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า การจัดบริการสุขภาพได้แบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม พบประมาณ ร้อยละ 78.0 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด เป็นกลุ่มที่สุขภาพทั่วไปดี ช่วยเหลือตัวเองได้ มีโรคเรื้อรังที่ควบคุมได้ 1-2 โรค กลุ่มติดบ้าน พบประมาณ ร้อยละ 20 เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือบางส่วน มีโรคเรื้อรังหลายโรค และกลุ่มติดเตียง พบประมาณ ร้อยละ 2.0 เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีภาวะแทรกซ้อน เปราะบาง ชราภาพ ข้อแนะนำ สำหรับ ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง คือ ต้องมีกิจกรรมประจำวันที่ได้ใช้การพูด การคิด ความจำ การแก้ไขปัญหา ทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่ทำได้ เช่น สวดมนต์ พูดคุยกับลูกหลาน ทำสวน งานช่าง งานอดิเรก งานที่ทำให้เพลิดเพลิน ติดตามเหตุการณ์ข่าวสารรอบตัว การออกไปท่องเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งบางกิจกรรมต้องอาศัยการสนับสนุนช่วยเหลือจากลูกหลาน ผู้ดูแล เพื่อให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ประกอบกับ ควรมีการเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางสังคม เช่น การสนับสนุนส่วนที่ครอบครัวหรือผู้สูงอายุขาดหรือมีความจำเป็น พาผู้สูงอายุที่ติดบ้านไปซื้อของ ไปท่องเที่ยว หรือ ปฏิบัติธรรม ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุ รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
นอกจากลูกหลานต้องเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้สูงอายุเองก็จำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลตนเองให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการสร้างคุณค่าให้กับตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองได้ จะได้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เกิดความสุขในชีวิต เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลาน เปลี่ยนจากภาระเป็นพลังของสังคม ผู้สูงอายุสามารถสร้างความสุขให้กับตนเอง ได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1.กิจกรรมเสริมพลัง ประกอบด้วย การรับประทานอาหาร ที่ มีประโยชน์ครบหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด หรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น เป็นต้นการบริหารสมอง โดยการฝึกให้ทักษะการใช้มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5ให้ สามารถรับรู้และเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ให้ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและสมองส่วนต่างๆ ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เช่น เต้นรำ เล่นหมากรุก หมากล้อม โยคะ รำมวยจีน ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานบ้านหรืองานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น การรักษาร่างกายโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่ง จากการวิจัย พบว่า การออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ หรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในระดับปานกลางอย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มความพึงพอ ใจในชีวิตให้กับผู้สูงอายุ รวม ทั้ง การตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตลอดจน หัวเราะ สร้างอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ดำรงชีวิตอยู่กับความพอเพียง ทำตัวผ่อนคลาย ไม่เครียด นอกจากนี้ ควรหางาน/กิจกรรมทำ ซึ่ง จากการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย พบว่า ผู้สูงอายุที่มีงานทำจะมีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน แม้ว่า สภาพร่างกายจะเสื่อมถอยลง ไม่เอื้อต่อการทำงานก็ตาม ทั้งนี้ เป็นเพราะ การทำงานทำให้รู้สึกว่าตนเองยังเป็นประโยชน์และมีคุณค่าโดย ผู้สูงอายุอาจกำหนดขอบเขตของงานหรือกิจกรรมที่ต้องการทำจากความสนใจ ถามตัวเองว่าชอบทำหรือสนใจที่จะทำอะไร หรือกำหนดจากสิ่งแวดล้อม เช่น อยากทำงานในบ้าน หรือ กิจกรรมในชมรม กำหนดจากช่วงเวลา ว่า อยากทำงาน/กิจกรรมนานเท่าใด กำหนดจากทักษะหรือความสามารถ หรืออาจกำหนดจากแหล่งงาน/กิจกรรมที่สนใจว่าอยู่ที่ไหน จะสมัครหรือติดต่อได้อย่างไร เป็นต้น
2.กิจกรรมทางสังคม/ชุมชน เช่น การเข้าชมรม/การ รวมกลุ่มตามความสนใจ หรือการทำจิตอาสา ซึ่งพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรมทางสังคมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน จะมีอายุยืนกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่นๆ ตลอดจน จะมีความภาคภูมิใจในตนเอง ควบคุมตนเองได้ ส่งผลให้มีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังต่างๆ ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทำกิจกรรม ที่สำคัญ มีส่วนช่วยรักษาการทำงานของสมองหรือความสามารถทางสติปัญญาไว้ให้ยาวนาน ป้องกันโรคสมองเสื่อม ที่เมื่อเป็นแล้วจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เป็นอย่างมาก
3.กิจกรรมทางศาสนา ซึ่ง พบว่า ศาสนาเข้ามามีส่วนในการดูแลสุขภาพจิตในด้านอารมณ์และสังคมของผู้สูงอายุ การได้พบปะกับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ได้พูดคุยถึงความรู้สึกต่างๆ แนวทางการปฏิบัติที่ฝึกจิตใจ และการนำคำสอนทางศาสนามาใช้ในการดูแลจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี การฝึกสมาธิ การสวดมนต์ หันเข้าหาศาสนาที่นับถือ จะช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย แจ่มใส อารมณ์คงเส้นคงวา เช่นเดียวกับ การศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) ประเทศ สหรัฐอเมริกา ที่พบว่า การฝึกสติมีผลต่อยีนภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งมีผลต่อปัญหาสุขภาพ รวมทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด และความเสื่อมของระบบประสาท นอกจากนี้ ยังพบว่า การปฏิบัติธรรม เข้าถึงธรรมะ เป็นปัจจัยความสุขที่สำคัญของผู้สูงอายุ ที่ทุกคนควรเข้าถึงตั้งแต่วัยทำงานด้วยเช่นกัน
“ช่วง วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นโอกาสดีที่ลูกหลานจะได้เดินทางไปกราบไหว้ รดน้ำขอพร แสดงความกตัญญูกตเวที ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุก็จะได้มีโอกาสมอบความรัก ความเอื้ออาทรและความห่วงใย ตลอดจนสร้างคุณค่าให้กับตนเอง เพื่อสานสัมพันธ์ความรักความอบอุ่นในครอบครัวไทย ให้เกิดความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
- 13 views