เดลินิวส์ - เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประชาชนไทย นิยมทำงานในสำนักงานหรือออฟฟิศ พร้อมใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ประกอบการทำงาน ทั้งแบบตั้งโต๊ะ และพกพา ทำให้ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ร่างกายได้เคลื่อนไหวน้อย ส่งผลให้กล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ โดยในทางการแพทย์เรียกว่าโรคออฟฟิศซิน โดรม บางรายมีอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่แล้ว หากทำงานในอิริยาบถที่ผิดซ้ำเติมอีก จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 พบว่า ทั่วประเทศมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 19 ล้านคน และจากผลสำรวจพนักงานทำงานใน สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง จำนวน 400 คน พบว่า ร้อยละ 60 มีภาวะโรคออฟฟิศซินโดรม อาทิ 1. ปวดหลังเรื้อรัง เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อยตึงตัวอยู่ตลอดเวลา สาเหตุสำคัญของการปวดเมื่อย นอกจากนี้ทำให้หายใจไม่อิ่ม กระบังลมขยายไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน หรือเรียกว่าสมองไม่แล่น ศักยภาพทำงานไม่เต็มร้อย
2. ไมเกรน หรือปวดศีรษะเรื้อรัง เกิดความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือขาดฮอร์โมนบางชนิดจนเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรค และ 3. มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ เนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ หรือจับเมาส์ท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการปวดของปลายประสาทนิ้ว หรือข้อมือล็อก โดยกลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 16-24 ปี มีความเสี่ยงเกิดภาวะออฟฟิศซินโดรมสูงถึงร้อยละ 55
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ที่ทำงานในสำนักงานควรปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม มีข้อแนะนำดังนี้ 1. ไม่ควรใช้เก้าอี้สปริงเอนได้ เพราะไม่มีการรองรับหลังเท่าที่ควร 2. คอมพิวเตอร์ต้องปรับให้จออยู่ในระดับสายตา 3. ปรับพฤติกรรมการนั่งเก้าอี้ให้เต็มก้น หรือหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อย ๆ พักสายตาทุก ๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือ และแขนทุก ๆ 1 ชั่วโมง 4. ปรับอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน 5. หาต้นไม้ในร่มมาปลูก เพื่อช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตา
6. หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที 7. รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทั้ง 5 หมู่ 8. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 9. ควรเปิดหน้าต่างสำนักงานให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเท และ 10. ปรับอารมณ์ ไม่ให้เครียด หรือพยายามผ่อนคลาย หรือสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถาม ได้ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและ สิ่งแวดล้อม โทรศัพท์ 0-2591-8172 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
วันเดียวกัน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการขูดหินปูน หรือหินน้ำลาย เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ เนื่องจากพบว่าในปี 2555 คนไทยวัยทำงานกว่าร้อยละ 70 มีหินปูนเกาะบนตัวฟัน และต้องได้รับการขูดหินปูน จนอาจทำให้มีเลือดออกบ้างตามอาการของเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ที่ส่วนใหญ่จะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป แต่จะไม่มากจนมีผลใด ๆ ต่อผู้ป่วย
"ทั้งนี้เฉพาะผู้ป่วยบางโรค ที่ต้องระวังและแจ้งทันตแพทย์ก่อนทุกครั้งที่เข้ารับบริการทำฟันหรือขูดหินปูน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มโรคเลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำหรือโรคลิวคีเมีย โรคไต และผู้มีประวัติเคยล้างไต ผู้มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และการใช้ยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มแสดงอาการระหว่างทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วิธีการดูแลและป้องกันการเกิดหินปูนหรือหินน้ำลาย คือ การกำจัดคราบจุลินทรีย์โดยแปรงฟันให้สะอาดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง และควรตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี หรือหากมีหินปูนควรขูดหินปูนอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี และลดการสูญเสียฟันในอนาคตอีกด้วย.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 26 views