เปิดหนังสือจากปลัดสธ. อ้างเหตุสตง.ท้วงสสจ.ใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพผิดวัตถุประสงค์ ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อให้สปสช.แก้ไข ชี้หากสปสช.ไม่ดำเนินการใน 2 สัปดาห์จะยื่นร้องหน่วยงานอื่นต่อไป
วันที่ 6 เม.ย. ผู้สื่อข่าวได้รายงานถึงข้อความจากหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ที่ สธ.0209.01/301 ลงวันที่ 3 เมษายน 2557 ลงนามโดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ถึงประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ข้อทักท้วงสป.สธ.กรณีการทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานสาขาของสปสช. มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่สตง. ฉบับที่ ตผ. 0037/3548 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ได้ตรวจสอบการทำงานของสปสช.ในการมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำหน้าที่สำนักงานสาขาของสปสช.นั้น
สปส.สธ. ได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ของสปสช. ในการจัดตั้งสำนักงานสาขาของสปสช. พบว่ามีความซ้ำซ้อนและไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน จึงขอให้สปสช.ชี้แจงและดำเนินการตามข้อทักท้วงติงที่สปสช.แจ้งมาเกี่ยวกับบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2557 โดยให้พิจารณาในประเด็นที่สตง.ทักท้วงและเป็นปัญหาต่อการดำเนินงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยบริการ ดังนี้
1.ให้ยกเลิกระเบียบการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ของสปสช. สำนักงานสาขาของสปสช.
2.ให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไตหรือค่าตอบแทนอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ที่กำหนดให้สปสช. สำนักงานสาขาของสปสช. จ่ายตรงรายบุคคล
3.ให้ระงับการจัดซื้อจากงบค่าเสื่อม ในประเด็นที่สตง.ทักท้วง
ทั้งนี้ให้สปสช.ช้แจงและเร่งรัดดำเนินการตามที่สป.สธ.ทักท้วงให้ทราบภายใน 2 สัปดาห์ มิฉะนั้นในปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2558 สป.สธ.จะปรับบทบาทในการเข้าร่วมบริการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากสปสช.ไม่แจ้งหรือดำเนินการใดๆ สป.สธ.จะยื่นร้องต่อหน่วยงานที่มีอำนาจในการระงับและเพิกถอนข้อดำเนินการอันมิชอบต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หนังสือดังกล่าวนั้น สืบเนื่องมาจากการที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดสธ. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการ สธ.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อหารือถึงแนวทางปฏิบัติของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลังจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทักท้วงมายัง สธ. ในวันที่ 3 เม.ย. ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวยื่นข้อเรียกร้องให้สปสช.แก้ไข และมอบหมายให้นพ.ทรงยศ นำหนังสือฉบับดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดสปสช.ที่มีการประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 3 เม.ย. แต่ถูกนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรมว.สธ. ให้กลับไปดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ เพราะต้องเสนอให้รมว.สธ.ทราบก่อน จึงจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดสปสช.ได้
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในที่ประชุมดังกล่าวที่มีปลัดสธ. เป็นประธานนั้น ได้มีการนำเสนอแนวทางดำเนินการของสธ.เพื่อการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพดังนี้
ทำหนังสือทักท้วงถึงสปสช. เพื่อให้ชี้แจงและตอบภายใน 2 สัปดาห์
1.ยกเลิกการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 โดยจัดสรรให้หน่วยบริการผ่านบัญชีเงินบำรุงแทนฯ
-ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไต/ค่าตอบแทนที่จ่ายตรงรายบุคคล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคล แต่ให้ปรับจัดสรรให้หน่วยบริการผ่านบัญชีเงินบำรุงแทน
-ระงับรายการจัดซื้อจากงบค่าเสื่อม ในประเด็นที่เป็นปัญหาตามสตง.ทักท้วง และ
-งบค่าเสื่อมส่วน 80% ต้องผ่านความเห็นชอบจากสสจ.ก่อน
-งบค่าเสื่อมส่วน 20% ต้องผ่านความเห็นชอบจากเขตสุขภาพก่อน
2.ให้แยกบทบาทของผู้ซื้อบริการจากบทบาทผู้ให้บริการ สปสช.ไม่ควรก้าวล่วงมาบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพเองหรือร่วมกับกรม อันจะทำให้เพิ่มภาระงานและรายงานที่มากมายแก่หน่วยบริการ ซึ่งระบบบริการสุขภาพเป็นบทบาทภารกิจของสธ. โดยชอบตามกฎหมาย
-สปสช.ในฐานะผู้ซื้อบริการ แต่มาทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัคซีน ยาราคาแพง วัสดุอุปกรณ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (เลนส์แก้วตาเทียม ฯลฯ) การจัดซื้อจัดหาดังกล่าวใช่บทบาทของสปสช.หรือไม่
-ต่อไปสปสช.เป็นผู้กำหนดรายการและราคาที่ต้องการซื้อ ส่วนการจัดซื้อจัดหารวมให้ดำเนินการในระดับเขต และให้เป็นบทบาทของเครือข่ายบริการ
-ให้ยกเลิกสปสช.สาขาจังหวัด เนื่องจากทำให้สับสนและสร้างปัญหาในการปฏิบัติของสสจ.
-ให้ยกเลิกการจัดเก็บและรายงานข้อมูลตั้งแต่ 1 ต.ค.57 และปรับระบบการทำงานของหน่วยบริการระดับต่างๆ ภายใต้เป้าหมาย/KPI กลางระดับประเทศ
การออกระเบียบใดๆที่มาบังคับให้หน่วยบริหารและบริการของสธ. ให้แจ้งสธ.โดยตรง เพื่อเป็นผู้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบเงินบำรุงหรือระเบียบของสธ.
3.พัฒนาและเตรียมความพร้อมของสธ. ในฐานะ National Health Authority, Provider และ Regulater
4.การสื่อสารทำความเข้าใจ กับทุกระดับ ทั้งผู้บริหาร หน่วยบริการของสธ. และภาคประชาสังคม
-สิ่งที่สธ.ปฏิรูปครั้งนี้ มีส่วนดีอย่างไร มีประโยชน์ต่อใครบ้าง ทั้งต่อประชาชน จนท. ระบบบริการ และต่อประเทศชาติ
-ต้องเร็วและชัดเจน แบ่งหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ในกลุ่มชมรมรพศ./รพท. รพช. หรือ สสจ. รวมทั้งเนื้อหาและระดับที่แจ้งให้เข้าใจ
-ต้องรีบแจ้งไปในจังหวัดที่สตง.ยังไม่ได้ลงตรวจสอบ เพื่อป้องกันและให้เกิดการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
เจรจากับสปสช. เพื่อกำหนดบทบาทภารกิจของ Provider และ Purchaser ที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน หัวข้อเจรจา
1.กำหนดบทบาทและอำนาจของสสจ. ในฐานะสปสช.สาขาจังหวัด หรือยกเลิกสปสช.สาขาจังหวัด
2.ยกเลิกระบบรายงานเดิมตั้งแต่ 1 ต.ค.57 แล้วจัดระบบบันทึกและรายงานข้อมูล (Record & Report Data) ของหน่วยบริการใหม่ให้เป็นระบบและลดภาระงานให้รายงานเฉพาะที่เป็นเป้าหมายเชิงนโยบายและปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ (Executive Information System : EIS) ซึ่งกำหนดโดยสธ. ส่วนผลลัพธ์และข้อมูลอื่นที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสธ.ให้กองทุนและกรม Survey เอง
3.ให้สปสช.ในฐานะผู้ซื้อบริหาร แต่มาทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัคซีน ยาราคาแพง วัสดุ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (เลนส์แก้วตาเทียม ฯลฯ) การจัดซื้อจัดหาดังกล่าวเป็นบทบาทของสปสช.หรือไม่ ต่อไปสปสช.เป็นผู้กำหนดรายการและราคาที่ต้องการซื้อ ส่วนการจัดซื้อจัดหารวมให้ดำเนินการในระดับเขต และให้เป็นบทบาทของเครือข่ายหน่วยบริการ
4.ให้มีการทำข้อตกลงร่วมในการซื้อบริการกับสธ. โดยกำหนดเป้าหมาย/ตัวชี้วัดรวม และมีงบประมาณกำกับ รวมทั้งการประเมินผล เริ่มปีงบประมาณ 2558
5.สปสช.ตรวจรับผลผลิตด้านเป้าหมาย/ตัวชี้วัดร่วม ที่ระบุในข้อตกลง และจ่ายเงินให้หน่วยบริการตามผลลัพธ์ที่ทำได้ (หากไม่ถึงเป้า ให้ลดลงตามสัดส่วน หากเกินเป้าได้เพิ่มเติม)
ขั้นตอนการเจรจา
1.การเจรจา
-ระหว่างนี้ ไม่ทำงานร่วมกับสปสข. จนกว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติ
-ไม่รับเงิน UC เลย หรือ ไม่รับเงินเฉพาะ Prepaid และ Reimbursement ได้ แต่เงิน On Top และอื่นๆ ไม่ขอรับ เพื่อลดความเดือดร้อน แก่หน่วยบริการที่มีปัญหาทางการเงิน
-การลงตกลงเงื่อนไขอื่นใด ต้องตกลงกับสธ.ให้ชัดเจนก่อน
2.หากไม่สามารถเจรจาได้ ให้ยกเลิกการเป็นกรรมการทุกชุดกับ UC
ทั้งนี้ สตง.ได้ทักท้วงการใช้จ่ายเงินของสสจ.ซึ่งทำหน้าที่เป็นสปสช.สาขาจังหวัด 15 จังหวัด โดยให้มีการเรียกเงินคืนกว่า 500 ล้านบาท เกี่ยวกับใช้จ่ายเงินบัญชี 6 ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งบัญชี 6 นั้น เป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องใน 5 ประเด็นดังต่อไปนี้
1.งบค่าบริหารสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2.งบประมาณเพื่อการจ่ายช่วยเหลือความเสียหายเบื้องต้นจากการรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
3.งบบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
4.งบลงทุนเพื่อการตอบแทน(งบค่าเสื่อม)
5.การกันเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายเพื่อบริหารจัดการในระดับจังหวัด
- 66 views