แนวหน้า - โกนากรี (เอพี/เอเฟพี/บีบีซี นิวส์) - รัฐบาลกินีออกมา ยอมรับแล้วว่าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในกรุงโกนากรีเมืองหลวง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 70 คน และก่อให้เกิดความวิตกกันว่าโรคระบาดดังกล่าวซึ่งเป็นกลุ่มโรคไข้ที่ทำให้เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ และมักเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ อาจลามจากกินีไปยังประเทศอื่นได้
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของกินีเปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกที่พบการระบาดของไวรัสอีโบลาในกินี ซึ่งทำให้มี ผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 70 คน และยังมีรายงานการเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันในไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็นชาติ เพื่อนบ้านด้วย ส่วนผู้ใกล้ชิดถูกแยกตัวดูอาการที่โรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตือนว่า ไวรัสอีโบลาที่ระบาดในกรุงโกนากรี เมืองหลวงที่มีประชากรราว 2 ล้านคน และสนามบินนานาชาติอาจทำให้ไวรัสแพร่ระบาดได้มากขึ้น ขณะนี้ องค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศกลุ่มต่างๆ พยายามให้คำแนะนำแก่ประชาชนในกินีเกี่ยวกับความรู้เรื่องไวรัสอีโบลา และคัดแยกผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อแล้ว ขณะที่ยังไม่มียารักษาไวรัสอีโบลา และสายพันธุ์ไวรัสอีโบลาที่ระบาดในกินีถือเป็นสายพันธุ์อันตราย มีแนวโน้มเสียชีวิตถึงร้อยละ 90 แม้พบได้ยากแต่สร้างความปั่นป่วนได้ เนื่องจากยังไม่มีทางรักษา และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเสียชีวิต โดยมันจะทำให้เกิดอาการเลือดออกจากอวัยวะภายในหรือภายนอก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันหยุดทำงาน ทำให้เกิดไข้สูง ปวดศีรษะหรือกล้ามเนื้อ ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสของเหลวที่ร่างกายของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อผลิตออกมา
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานสาธารณสุขของกินีประกาศเตือนประชาชนให้เลิกกินค้างคาว เพราะเป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในภาคใต้ของกินี สำหรับค้างคาวที่ชาวกินีนิยมกิน ส่วนใหญ่นำมาต้มยำหรือย่างกินแกล้มสุรา
ด้านองค์กรการแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) ระบุว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้ออีโบลา คือการแยกผู้ป่วย ซึ่งทางการกินีจัดตั้งโรงแยกผู้ติดเชื้อ 2 แห่ง ในเมือง มาเซนตา และเมือง เกคเคดู ทางใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดแล้ว ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ยีนของเชื้ออีโบลาในกินี พบว่ามีความใกล้เคียงกับ ไวรัสอีโบลาซาอีร์ ซึ่งเคยระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ด้านกระทรวงมหาดไทยของประเทศเซเนกัลประกาศปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศกินี จนกว่าจะมีการแจ้งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของเชื้ออีโบลา ขณะที่องค์การอนามัยโลก แถลงว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการพบเชื้ออีโบลานอกประเทศกินี แต่มีผู้ป่วยอย่างน้อย 12 คน ในประเทศไลบีเรีย และเซียร์รา ลีโอน ต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีโบลา
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 31 มีนาคม 2557
- 2 views