นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ‘การปฏิรูปประเทศไทยจากฐานชุมชนท้องถิ่น’ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สภาองค์กรชุมชนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยจากฐานราก และการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล” ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ ว่า การพัฒนาจากฐานรากต้องมีความหลากหลาย มีความงดงาม โดยควรเริ่มจากชุมชน ในบริบทของชุมชน และคนที่ตัดสินคือชุมชน ซึ่งคำตอบสุดท้ายคือคำตอบของชุมชน ส่วนแนวความคิด จะพัฒนาอย่างไรนั้น ต้องยึดให้คนในชุมชนมีความสุข นี่คือจุดผลลัพธ์ที่สำคัญ ต้องทำให้เกิดสุขใน 2 สิ่ง 1.สุขกาย 2.สุขใจ โดยการจะทำให้คนสุขทั้งกาย ใจ เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่คิดถึงระบบที่ครอบงำบุคคลนั้นอยู่ ถ้าสิ่งแวดล้อม ครอบครัว สังคมไม่ดีบุคคลก็ไม่มีความสุข อย่างวิกฤตการเมืองครั้งนี้ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ เช่น นโยบายรับจำนำข้าว
“ในประเทศ เรามีระบบปลาใหญ่กินปลาเล็กในหลายขั้นตอน ในประเทศที่เจริญแล้ว จะไม่มีปัญหาการผูกขาดตลาด แต่บ้านเรา คนที่ทำคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง (เกษตรพันธสัญญา) เลี้ยงไก่เหลือแต่ขี้ไก่ เลี้ยงหมูก็เหลือแต่ขี้หมู ทีแรกดูเหมือนจะเป็นเถ้าแก่ แต่สุดท้ายติดหนี้ติดสินจากการทำเกษตรพันธะสัญญา แม้จะไม่ได้กินเหล้า เล่นการพนันเลยก็ตาม นักปฏิรูปจึงต้องมองปัญหาอย่างรอบด้านโดยเริ่มต้นจากการหาข้อมูลจากชุมชน”
น.พ.มงคล กล่าวต่อว่า การจะปฏิรูปประเทศไทยจากฐานชุมชนท้องถิ่นยังต้องมองภาพระดับระหว่างประเทศ ที่มีการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา เช่น เอฟทีเอ หรือการค้าเสรี โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบถึงฐากรากของสังคมอย่างรุนแรง
“แม้เราปลูกผัก เราก็อาจจะถูกจับ หากเมล็ดพันธุ์นั้นถูกผูกขาดไว้ ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังไปเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้า หรือ GSP ทั้งที่จริงๆแล้ว ได้ GSP นิดเดียว แต่เมล็ดพันธุ์ต่างๆของเราอาจจะเก็บไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปไม่ได้ มันจะกระทบไปถึงรากฐานของสังคม คำถามคือ แล้วทำไมกระทรวงพาณิชย์จึงทำ เพราะมันเป็นความซ่อนเร้นในประเทศที่มีคอรัปชั่น ดังนั้นเราจะมองแค่ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้ เราต้องจับตามองเรื่องเหล่านี้ และสู้ด้วย”
รายงานข่าวแจ้งว่า การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 4 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 เม.ย.นี้ ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยในวันพุธที่ 2 เม.ย.นี้ ทางกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นหลังจากที่กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ท้วงติงว่า ไม่มีการจัดหารือระหว่างรอบเจรจาตามที่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาได้รับปากไว้ รวมถึงข้อสังเกตในสถานะรัฐบาลรักษาการที่มีอำนาจมากน้อยแค่ไหนในการตัดสินใจเจรจาความตกลงระหว่างประเทศเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ คณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ยังไม่เคยมีการเรียกประชุมเลยเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
- 3 views