มติชน - ในการประชุมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานา ชาติด้านไข้หวัดนกและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากเวียดนามและกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ประชุมชี้ว่าอาจมีการกลายพันธุ์ของไวรัสหวัดนกที่พบระบาดในประเทศกัมพูชาและพื้นทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งพบในช่วงเวลาเดียวกับที่กัมพูชาพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกรายแรกของประเทศในปี 2556 ที่ผ่านมา โดยนับแต่เดือนมกราคมปี 2556 มีรายงานพบชาวกัมพูชา ติดเชื้อไวรัส 35 ราย ซึ่งมากกว่าชาติใดๆในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมากัมพูชาจะพบ ผู้ติดเชื้อไวรัสหวัดนกราว 4-5 รายต่อปี แต่เมื่อปีที่แล้วมีรายงานยืนยันพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งสิ้น 26 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และในจำนวนนี้ได้เสียชีวิตไป 12 ราย ซึ่งนายเดนนิส แคร์โรล ผู้อำนวยการหน่วยไข้หวัดนกของยูเสด กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็น การเพิ่มขึ้นที่สำคัญ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุใด
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าแม้เดิมทีไวรัสหวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 จะพบในสัตว์ปีก เช่น ไก่และเป็ด แต่มันสามารถแพร่สู่คนที่ใกล้ชิดหรือสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายได้ นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ยังอาจก่อผลร้ายแรงต่อคนที่ติดเชื้อและทำให้เกิดแพร่ระบาดเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้
ในที่ประชุมนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามหาเหตุผลว่าเหตุใดในปีที่แล้วกัมพูชาถึงมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกมากถึง 26 ราย ขณะเวียดนามมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพียง 2 รายเท่านั้น โดยแม้จะยังไม่พบตัวแปรไขปมคำถามนี้ที่แน่ชัด แต่ก็มีการชี้ถึงการไร้ซึ่งมาตรการป้องกันที่รัดกุมมากพอของกัมพูชา ซึ่งต่างจากเวียดนามที่ดำเนินการมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส ดังกล่าวในสัตว์ปีกและรัฐบาลยังจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกที่ยอมฆ่าสัตว์ปีกของตนเองทิ้งหากพบติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อนก่อนที่จะพบเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่ระบาดไปถึงคน (แคมโบเดียเดลี)
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 29 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 8 views