กรุงเทพธุรกิจ - วานนี้ (26 มี.ค.) สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก มูลนิธิเบาหวานโลก และบริษัทโนโวนอร์ดิส ประชุมความร่วมมือ "แนวทางการจัดการการระบาดโรคเบาหวาน และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย"
ดร.อาเนอร์ส ไดกอร์ด ประธานมูลนิธิเบาหวานโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลก มีผู้ป่วยดรคเบาหวานมากถึง 382 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกประเทศ ทั้งนี้โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีความร้ายแรง เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ตาบอด และถูกตัดขาหรือเท้า หากรุนแรงมากก็อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งในกระบวนการรักษายังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
"ข้อมูลจากสมาคมเบาหวานโลก พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ทำให้การเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยเพียง ครึ่งเดียว ซึ่งในจำนวนนี้สามารถคุมระดับน้ำตาลได้เพียง 1 ใน 3 ขณะที่สถานการณ์ ในประเทศไทย พบว่า ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานสูงถึง 180 ราย เฉลี่ย 8 รายต่อชั่วโมง"
พญ.วรรณี นิธิยานนท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความท้าทายของประเทศไทย คือผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งผู้ป่วยมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษา
"ปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 6.4 ของประชากรไทยวัยผู้ใหญ่เป็นโรคเบาหวาน หรือประมาณ 3.2 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านคน ในปี 2578"
นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานนั้นค่อนข้างสูงมาก ส่วนใหญ่จะเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานมากถึง 50,000 ล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 มีนาคม 2557
- 64 views