สถานะทางเศรษฐกิจสูงขึ้นหรือไม่? ในกลุ่มประเทศที่ได้ลงนามในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปแล้ว ได้แก่ ชิลี เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และสิงคโปร์ ข้อมูลจากการศึกษาตัวเลขส่งออกและการลงทุนภายหลังการลงนามในข้อตกลงฯโดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ ผลการคาดการณ์โดยใช้ข้อมูลการส่งออกของกลุ่มประเทศเหล่านี้และการลงทุนจากสหภาพยุโรปที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาผ่านมา ชี้ว่า การเจรจาการค้าเสรี ไม่ใช่ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป และการเจรจาการค้าเสรี ไม่ใช่ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนจากสหภาพยุโรป อย่างมีนัยสำคัญ
       
ข้อมูลข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม ที่ผ่านมา จัดโดยคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ร่วมกับแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ มูลนิธิเพื่อพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
       
ในการประชุมดังกล่าว ยังกล่าวถึงการคึกษาในต่างประเทศ ปี พ.ศ. 2555 ที่พบว่า ประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำและปานกลางจำนวน 35 ประเทศ ที่ได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ประชาชนในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม เพิ่มมากขึ้น หรือกล่าวได้ว่า การเพิ่มการลงทุนของบริษัทข้ามชาติจะส่งผลให้เพิ่มการไหลเข้ามาของผลิตภัณฑ์ที่มีผลเสียต่อสุขภาพ และเพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น อาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และ/หรือโซเดียมสูง
       
สำหรับประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา นักวิชาการในที่ประชุมได้นำเสนอผลการวิเคราะห์การพึ่งพิงของเศรษฐกิจของไทยต่อตลาดสหภาพยุโรป โดยใช้ข้อมูลการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งการลงทุนจากสหภาพยุโรปในช่วงปี พ.ศ. 2546 ถึงปี พ.ศ. 2555 พบว่า สินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยังสหภาพยุโรปนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม โดยคิดเป็นร้อยละ 93 ของสินค้าทั้งหมด และในจำนวนผู้ส่งออกรายใหญ่ 25 อันดับแรก มีผู้ส่งออกเพียง 5 ราย ที่เป็นบริษัทสัญชาติไทย
       
เมื่อวิเคราะห์บทบาทของสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (General System of Preference: GSP) ต่อการส่งออกของไทย โดยศึกษาเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดห้าอันดับแรกในปี พ.ศ. 2555 พบว่า การใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ช่วยให้ประหยัดรายจ่ายจากภาษีศุลกากรคิดเป็นมูลค่า 84 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และจากการประเมินผลกระทบของ GSP ที่มีต่อการส่งออก เมื่อควบคุมปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ให้คงที่ เช่น อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหภาพยุโรป ภาษีศุลกากร อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ พบว่าการส่งออกของไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก GSP อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีการส่งออกสินค้าที่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 63 ของสินค้าที่ใช้สิทธิดังกล่าวได้ทั้งหมด และไม่พบว่า GSP มีผลต่อการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด 

ผลกระทบต่อการค้าข้างต้น ยังไม่นับรวมข้อเรียกร้องจากสหภาพยุโรปที่จะส่งผลต่อการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงกว่าระดับที่องค์การการค้าโลกกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงยาที่จำเป็นและจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

บทเรียนจากต่างประเทศนี้ เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งของคณะเจรจาฝ่ายไทยที่จะต้องทำให้สังคมไทยโดยรวมได้รับประโยชน์จากการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

ผู้เขียน : รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่มา : นสพ.astvผู้จัดการรายวัน 25 มีนาคม 2557