14 หน่วยงานในร้อยเอ็ดลงนาม ร่วมเดินหน้าคุมเข้มโฆษณายา อาหารเกินจริงในสื่อวิทยุ ชี้เข้าถึงประชาชนง่าย จ่อลงดาบจริงจัง ส่ง สสจ.ให้ความรู้ประชาชน คนทำงานวิทยุ หวังแก้ปัญหาจริงจัง
       
วันนี้ (25 มี.ค.) ที่โรงแรมธนินทร กรีนปาร์ค จ.ร้อยเอ็ด ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวภายหลังเป็นประธานจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการแก้ปัญหาการโฆษณาที่ไม่เหมาะสมทางสื่อวิทยุจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอางที่ฝ่าฝืนกฎหมายจำนวนมาก มีลักษณะโอ้อวด แสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือเกินจริง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากรักษาอาการป่วยไม่หายแล้ว ยังเสียเงินโดยไม่จำเป็น โดยสื่อวิทยุกระจายเสียง เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้ง่าย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงสื่อวิทยุกระจายเสียงจังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน ได้ลงนามร่วมกันในการแก้ปัญหาดังกล่าว
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า การดำเนินงานแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.กำหนดให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่เหมาะสม เป็นกลไกการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน 2.การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 3.สร้างความตระหนักแก่สื่อมวลชนในการโฆษณาอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และ 4.การเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน ผู้ดำเนินการกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง ทั้งนี้ สสจ.ต้องเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายแก่ผู้ดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง เฝ้าระวัง ตรวจสอบโฆษณา รับเรื่องร้องเรียน รวบรวมสื่อโฆษณาที่ไม่ถูกต้องส่งให้ อย. และ กสทช. ประสานงานกับองค์กรวิชาชีพสื่อ ส่วนสมาคม อสม.ร้อยเอ็ด มีหน้าที่เฝ้าระวัง รวบรวมโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียงที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมายัง สสจ. เป็นตัวแทนผู้บริโภค ดำเนินการฟ้องร้อง
       
"องค์กรวิชาชีพสื่อ มีหน้าที่เผยแพร่ข้อปฏิบัติด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่ผู้ดำเนินการกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง เฝ้าระวัง ให้มีการโฆษณาที่เหมาะสม และสื่อวิทยุกระจายเสียงต้องตรวจสอบโฆษณา โดยต้องไม่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง ไม่อ้างสรรพคุณหรือส่อให้เกิดความเข้าใจว่า เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องไม่เกี่ยวกับการบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค ไม่มีลักษณะการให้มีบุคคล กลุ่มคนมาชักจูงโน้มน้าว ชวนเชื่อ เป็นต้น" รองเลขาธิการ อย. กล่าว
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า อย. กับ สสจ. ตกลงกันแล้วว่าปีนี้จะร่วมกันตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุ โดยแบ่งเป็น 1 อำเภอ 1 ความถี่ โดยมีการประชุมจัดทำกระบวนงาน รูปแบบการตรวจสอบให้เหมือนกันทั่วประเทศ และจัดทำคู่มือแจกให้ทุกจังหวัด แล้ว ทั้งนี้ กำหนดให้มีพื้นที่แบบอย่างในการจัดการปัญหา ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นพื้นที่แบบอย่าง การลงนามร่วมกันในวันนี้จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะยกระดับสื่อ ทำให้มีพื้นที่สีขาวเพิ่มมากขึ้น มีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการรับข้อมูลข่าวสารจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ